'บีโอไอ' ชู 5G ดันลงทุนดิจิทัล-สมาร์ทซิตี้

'บีโอไอ' ชู 5G  ดันลงทุนดิจิทัล-สมาร์ทซิตี้

อุตสาหกรรมดิจิทัลและเมืองอัจฉริยะที่กำลังผลักดันให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมารองรับ โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5จี

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่อีอีซีสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หารือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สาขาภาคตะวันออก เกี่ยวกับการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลและเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอีอีซี โดยที่ผ่านมาบีโอไอได้ทำงานร่วมกับ DEPA เพื่อดึงการลงทุนดังกล่าวให้เกิดขึ้น

การชักจูงการลงทุนดังกล่าวได้ชูจุดขายหลายด้าน เช่น ระบบนิเวศน์ของธุรกิจดิจิทัลที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5จี ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ในภาคตะวันออกที่มีความท้าทาย และโอกาสที่จะทำให้ไทยได้ทำงานร่วมกับนวัตกรและบริษัทชั้นนำจากทั่วโลก 

อีกทั้งยังจะมีโอกาสร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และผู้ประกอบการในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณติดกันภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)

158168784574

สำหรับการการหารือกับทีมโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทำให้มองเห็นโอกาสส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอีอีซี โดยการหารือกับ DEPA เห็นว่ามีหลายโครงการในภาคตะวันออกสนใจยื่นขอรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะอยู่ใน จ.ฉะเชิงเทราหลายโครงการ ทั้งที่เป็นการยกระดับเมืองเดิมและการพัฒนาเมืองใหม่

ทั้งนี้ DEPA กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อรับรองการเป็นเมืองอัจฉริยะก่อนจะยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ ซึ่งขณะนี้มีผู้มายื่นเรื่องแล้วกว่า 20 โครงการทั่วประเทศ มีทั้งการตั้งเมืองอัจฉริยะขึ้นมาใหม่ทั้งหมด และการพัฒนาเมืองเดิมให้เป็นเมืองอัจฉริยะ

นอกจากนี้ DEPA จะใช้อาคาร Intelligent Operation Center ที่จะสร้างเสร็จเดือน ก.ค.นี้ เป็นที่วางระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมืองอัจฉริยะหรือ Open Data Platform ของอีอีซีด้วย ส่วนมูลค่าการลงทุนยังประเมินไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับขนาดของสมาร์ทซิตี้ ที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่มาก

ส่วนบีโอไอได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไว้แล้ว ทั้งการพัฒนาพื้นที่และการพัฒนาระบบ โดยกรณีเป็นเมืองที่มีการให้บริการระบบอัจฉริยะครบ 7 ด้าน คือ Smart Environment, Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance และ Smart Energy จะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี แต่ถ้าไม่ครบ 7 ด้าน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี 

รวมทั้งโครงการเมืองอัจฉริยะในอีอีซีจะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปีด้วย ซึ่งบีโอไอหวังว่าถ้าโครงการเหล่านี้เกิดได้จะพลิกโฉมพื้นที่ภาคตะวันออก

“บีโอไอ คาดว่าปี 2563 จะเห็นโครงการเมืองอัจฉริยะผ่านการพิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุนหลายโครงการ" 

ทั้งนี้ บริษัทที่ยื่นขอส่งเสริมต้องถือหุ้นโดยคนไทยไม่ต่ำกว่า 51% เพราะเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ ส่วนเทคโนโลยีที่จะใช้ในเมืองอัจฉริยะอาจดึงผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีอัจฉริยะในต่างประเทศมาร่วมดำเนินงาน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยเชี่ยวชาญเทคโนโลยีอัจฉริยะในอนาคต

สำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล ได้นำร่องตั้งโครงการ Thailand Digital Valley @Digital Park Thailand อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 30 ไร่ เป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลอีกแห่งหนึ่งของไทย นอกเหนือจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่และภูเก็ต

อีกทั้ง Thailand Digital Valley ยังทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และเพิ่มประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรมและบริการในอีอีซี รวมทั้งช่วยเร่งปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitization) ของผู้ประกอบการในพื้นที่ให้เร็วขึ้น

อุตสาหกรรมดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะยกระดับอุตสาหกรรมอื่น โดยปี 2558–2562 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล 990 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 40,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2562 มียอดคำขอในอุตสาหกรรมดิจิทัล 185 โครงการ มูลค่าการลงทุน 9,000 ล้านบาท คาดว่าปี 2563 จะมีโครงการและมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่าปี 2562

สำหรับโครงการ Thailand Digital Valley เฟส 1 ส่วนที่เป็นอาคารสำนักงาน และ Intelligent Operation Center จะสร้างเสร็จและเปิดบริการเดือน ก.ค.นี้ มีพื้นที่รองรับผู้ประกอบการดิจิทัล 600 ตารางเมตร ซึ่งบีโอไอร่วมกับ DEPA เริ่มเชิญกลุ่มสตาร์ทอัพมาตั้งกิจการในอาคารนี้ก่อน โดยระยะแรกจะเน้นกลุ่มสตาร์ทอัพในภาคตะวันออก และกลุ่มสตาร์ทอัพอื่นที่จะมาช่วยพัฒนาโซลูชั่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาของเมือง หรือแก้ปัญหาของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและบริการในภาคตะวันออก

ส่วนอาคาร Digital Knowledge Exchange Center ขนาด 4,500 ตารางเมตร เป็นที่ตั้งของสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล จะเสร็จเดือน ก.พ.2564 บีโอไอกับ DEPA เชิญนักลงทุนกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก (Tech Companies) เช่น Huawei, Google, Microsoft และบริษัทขนาดใหญ่และกลางที่ต้องการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพไทย

ทั้งนี้ การดึงผู้ประกอบการและกลุ่มสตาร์ทอัพมาตั้งกิจการใน Thailand Digital Valley บีโอไอกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับการลงทุนในอีอีซี จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 2 ปี เพิ่มเติมจากการยกเว้นภาษีเงินได้ 5-8 ปี และหากพัฒนาบุคลากรไทยตามเงื่อนไขที่กำหนดด้วยจะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เพิ่มอีก 3 ปี รวมเป็นลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม 5 ปี