กลต.ผ่ามุมมอง ‘3 มิติ’ ดันประชาชนเข้าถึงกองทุนรวม

 กลต.ผ่ามุมมอง ‘3 มิติ’ ดันประชาชนเข้าถึงกองทุนรวม

ในบทความตอนที่ 2 นี้จะกล่าวถึงการเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมของผู้ลงทุนบุคคล เพื่อศึกษา ว่าในปัจจุบันผู้ลงทุนบุคคลมีการเข้าถึงกองทุนรวมมากน้อยขนาดไหน

โดยการศึกษานี้ได้ทำการวัดด้วย penetration rate คือ เป็นการวัดจากการเปรียบเทียบจำนวนผู้ลงทุนบุคคลที่ลงทุนในกองทุนรวมกับประชากรกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนนโยบายการขยายฐานผู้ลงทุนต่อไปในอนาคต โดยการศึกษานี้ได้จัดแบ่งการเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมเป็น 3 มิติ ดังนี้

มิติแรก คือ มิติการเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมจำแนกตามกลุ่มประชากร เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ที่มีโอกาสเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวม โดยทำการเปรียบเทียบจำนวนผู้ลงทุนบุคคลในกองทุนรวมกับจำนวนประชากรที่มีงานทำจำนวน 38 ล้านคน พบว่ามีผู้ที่เข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมคิดเป็นเพียง 3.7% หากเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรที่มีงานทำและอยู่ในระบบแรงงานที่มีอยู่จำนวน 15 ล้านคน คิดเป็นเพียง 9.3% เนื่องจากประชากรบางส่วนอาจมีข้อจำกัดเรื่องรายได้และยังไม่มีเงินเก็บเพียงพอที่จะลงทุน 

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ กลุ่มผู้มีรายได้และเสียภาษีที่มีอยู่ประมาณ 4 ล้านคน พบว่ามีผู้ที่เข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมแล้ว 34% หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้มีเงินได้และเสียภาษี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ลงทุนในกองทุนรวมยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก กล่าวคือ จากจำนวนผู้เสียภาษีเงินได้ 4 ล้านคน มีผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมแล้วประมาณ 1.4 ล้านคน ยังเหลืออีกถึง 66% หรือ 2.6 ล้านคนที่ยังไม่ได้ลงทุนในกองทุนรวม จึงควรมีการศึกษาเชิงลึกให้เข้าใจสาเหตุที่ประชากรกลุ่มนี้ไม่ลงทุนในกองทุนรวม เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมให้ประชากรกลุ่มนี้ลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น

158151103690

มิติที่สอง คือ มิติการเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมจำแนกตาม Generation เพื่อศึกษาว่า ผู้ลงทุนบุคคลกลุ่ม Generation ใดมีการลงทุนในกองทุนรวมสูงสุด ซึ่งพบว่า Generation X มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด รองลงมาคือ Baby Boomer และ Generation Y เมื่อดูย้อนหลังไปถึงปี 2014 ก็พบจุดที่น่าสนใจคือ ผู้ลงทุนกลุ่ม Generation Y มีอัตราการเติบโตมากกว่าผู้ลงทุนกลุ่ม Generation อื่น โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 1.6 % ในปี 2014 มาเป็น 2.8% ในปี 2018 ทำให้เห็นว่า Generation Y แม้ว่าจะมีจำนวนเงินลงทุนไม่มาก แต่ก็เข้ามาลงทุนค่อนข้างเร็ว จึงเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและเป็นเป้าหมายในการขยายฐานต่อไป

มิติที่สาม คือ มิติด้านภูมิภาค เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรผู้มีงานทำในแต่ละภูมิภาค พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือยังมีมูลค่าเงินลงทุนต่ำ แต่มีการเติบโตของจำนวนผู้ลงทุนที่สูงกว่าภูมิภาคอื่น โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9% และ 8.6% ต่อปี ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเติบโตของผู้ลงทุนในต่างจังหวัดมีทิศทางที่ดี จึงเป็นโอกาสดีในการขยายฐานผู้ลงทุนในภูมิภาคเหล่านี้

158151106559

กล่าวโดยสรุป ใน 158151108491 ปัจจุบันจำนวนผู้ลงทุนที่เข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมมีขนาดเทียบเท่า 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรที่จ่ายภาษี ดังนั้นแล้วจึงเห็นได้ว่ายังมีโอกาสที่ตลาดทุนจะเติบโตได้อีก ประชากรที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนซึ่งคือ กลุ่มประชากรที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีซึ่งเป็นกลุ่ม quick win ในการขยายฐานผู้ลงทุนได้ โดยมีอย่างน้อยอีก 2.6 ล้านคน และจำนวนผู้ลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกภูมิภาคโดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในกลุ่ม Generation Y มีอัตราการเติบโตสูง ทั้งนี้ การขยายฐานผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมของผู้ลงทุนด้วย เนื่องจากพฤติกรรมการลงทุนของผู้ลงทุนในแต่ละช่วงวัยอาจมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะอธิบายในตอนต่อไปที่เป็นตอนสุดท้าย

--------------

หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์