พิบัติภัยฉุดเศรษฐกิจโลก ร้ายกว่า 'สงครามการค้า'

พิบัติภัยฉุดเศรษฐกิจโลก ร้ายกว่า 'สงครามการค้า'

พิบัติภัยโรคระบาดไวรัสโคโรน่าฉุดเศรษฐกิจโลกอย่างมาก เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกพึ่งพาเศรษฐกิจจีน รวมถึงสหรัฐ ที่ล่าสุดที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว ระบุว่าไวรัสโคโรน่าอาจชะลอให้การส่งออกของสหรัฐไปจีนไม่ให้พุ่งขึ้น จากที่เคยคาดหวังตามข้อตกลงการค้าเฟส 1

ภัยพิบัติจากโรคระบาด ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 สั่นคลอนเศรษฐกิจโลก ตามการออกมายอมรับของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และอีกหลายสำนักเศรษฐกิจโลก สำหรับการระบาดของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ล่าสุด (10 ก.พ.2563) พบยอดผู้เสียชีวิตในจีนเพิ่มเป็น 908 ราย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 40,171 ราย "แซงหน้า" จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ที่ระบาดเมื่อปี 2546 ครั้งนั้นทั่วโลกมีผู้เสียชีวิต 774 ราย  

จนถึงขณะนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าฯ ยังไม่เห็นสัญญาณบ่งชี้ชัดเจนว่า "จะยุติลงในเร็ววัน" โรคระบาดจึงกลายเป็นอีก "หายนะภัย" ที่โลกต้องเผชิญ เพราะไม่เพียงมีผู้ติดเชื้อในจีน แต่ยังพบผู้ติดเชื้อลามไปยังหลายประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ลามจีนไปในหลายประเทศ ฐานที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก เป็นซัพพลายเชนสำคัญของโลก

แน่นอนประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ไปเต็มๆ หนีไม่พ้นประเทศที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงไทย ที่พึ่งพาทั้งรายได้การส่งออก และรายได้จากการท่องเที่ยว มากกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็น "อันดับ 1" ของโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ลาร์รี คุดโลว์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว ยังออกมาระบุว่า ไวรัสโคโรน่า อาจชะลอให้การส่งออกของสหรัฐไปจีนไม่ให้พุ่งขึ้น จากที่เคยคาดหวังตามข้อตกลงการค้าเฟส 1 (ลงนามไปเมื่อ 15 ม.ค.2563) โดย "เป็นครั้งแรก" ที่เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลทรัมป์มาพูดถึงการแพร่ระบาดว่าจะกระทบดีลการค้า ตอกย้ำว่า สงครามเชื้อโรคนั้นทำลายเศรษฐกิจโลกได้มากกว่าสงครามการค้า

ถามว่า ชาวโลกจะร่วมกัน "ตัดไฟแต่ต้นลม" ป้องกันหรือลดผลกระทบจากการเกิดขึ้นของโรคระบาดอุบัติใหม่กันได้อย่างไร แม้จะยังเป็นคำถามที่ต้องร่วมกันหาคำตอบถึงต้นตอของโรค ทว่ามีข้อสังเกตที่ทั่วโลกยอมรับในวงกว้างว่า หลายครั้งที่เกิดวิกฤติจากสภาพแวดล้อม "กิจกรรมของมนุษย์" ล้วนเป็น "หนึ่งในตัวการ" ทำให้โลกที่อาศัยอยู่บิดเบี้ยว เกิดความแปรปรวน กลายกลับมาสร้างปัญหาชาวโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี ยังระบุถึงการจัดทำรายงาน "เศรษฐกิจธรรมชาติใหม่" พบว่าปี 2562 เป็นปีที่มหาสมุทรโลกร้อนเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงสุดเป็นปีที่ 2 และเกิดไฟป่าหลายพื้นที่ตั้งแต่สหรัฐไปจนถึงป่าอเมซอนและออสเตรเลีย สร้างความเสียหายให้กับ “จีดีพีโลกกว่าครึ่ง” ดังนั้น การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น รวมถึงโรคระบาด จึงเป็นเรื่องของทุกคนบนโลกต้องร่วมกันแก้ รวมถึงประเทศไทยที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นพิษ ภัยแล้ง พ่วงพบผู้ติดเชื้อจากไวรัสโคโรน่า ต้องสกัดปัญหาจากต้นทาง หากเชื่อในทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก (The Butterfly Effect) แค่ผีเสื้อกระพือปีก โลกทั้งใบก็สะเทือน