‘แบกแดดเดือด’ ประท้วง-จรวดถล่มสถานทูตสหรัฐ

‘แบกแดดเดือด’ ประท้วง-จรวดถล่มสถานทูตสหรัฐ

‘แบกแดดเดือด’ประท้วง-จรวดถล่มสถานทูตสหรัฐ ตั้งแต่เดือน ก.ย. อิหร่านและกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านหนุนหลังโจมตีบุคลากรสหรัฐในอิรักแล้วกว่า 14 ครั้ง

ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านที่เข้มข้นเมื่อเดือนก่อน แต่พื้นที่ความขัดแย้งกลับอยู่ที่อิรัก ล่าสุดเกิดเหตุจรวด 3 ลูกถล่มสถานทูตสหรัฐในกรุงแบกแดด พร้อมๆ กับการประท้วงทั้งในเมืองหลวงและภาคใต้ของประเทศ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า จรวด 3 ลูกถล่มสถานทูตสหรัฐในกรุงแบกแดดเมื่อวันอาทิตย์ (26 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่จรวดพุ่งเป้าสถานทูตสหรัฐโดยตรง ยังไม่มีใครอ้างว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ แต่รัฐบาลวอชิงตันกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือกองกำลังในอิรักที่มีอิหร่านหนุนหลัง

แหล่งความด้านความมั่นคงรายหนึ่งเผยกับเอเอฟพีว่า จรวดลูกหนึ่งโจมตีโรงอาหารสถานทูตช่วงเวลาอาหารเย็น อีก 2 ลูกตกลงใกล้ๆ กัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งของอิรักกล่าวว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 3 คน แต่ยังไม่ทราบว่าบาดเจ็บรุนแรงแค่ไหน เป็นเจ้าหน้าที่อเมริกันหรือชาวอิรักที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานทูต เป็นครั้งแรกที่มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บจากการโจมตีแบบนี้

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงเมื่อกลางดึกวันอาทิตย์ เรียกร้องให้อิรักปฏิบัติตามพันธะกรณีในการปกป้องสถานทูตสหรัฐ

“ตั้งแต่เดือน ก.ย. อิหร่านและกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านหนุนหลังโจมตีบุคลากรสหรัฐในอิรักแล้วกว่า 14 ครั้ง สถานการณ์ความมั่นคงยังคงตึงเครียด และกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุนยังคงเป็นภัยคุกคาม เราต้องเฝ้าระวังต่อไป” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแถลง

การโจมตีเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ผู้สื่อข่าวได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไทกริสเมื่อเวลา 19.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น

ระยะหลังเกิดการโจมตีสถานทูตสหรัฐหรือฐานทัพที่มีทหารอเมริกันประจำการหลายครั้ง นายกรัฐมนตรีอาเดล อับเดล มาห์ดีของอิรัก และโมฮัมเหม็ด ฮัลบูซี ประธานรัฐสภาประณามเหตุที่เกิดว่า เป็นการลากแผ่นดินเกิดไปสู่สงคราม หลังจากเดือนก่อนอิรักกลายเป็นสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเกิดเหตุจรวดพุ่งเป้าฐานทัพแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของอิรัก ปลิดชีพลูกจ้างสหรัฐ 1 คน

สหรัฐจึงตอบโต้ด้วยการเล่นงานกลุ่มกาตาเอบ เฮซบอลเลาะห์ที่มีอิหร่านหนุนหลัง ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ต่อมา สหรัฐส่งโดรนสังหารนายพลกาเซ็ม โซไลมานีของอิหร่านที่นอกสนามบินแบกแดด อิหร่านจึงยิงขีปนาวุธเข้าใส่ฐานทัพอิรักที่มีทหารสหรัฐประจำการ

อิรักมีทหารอเมริกันปฏิบัติหน้าที่อยู่ราว 5,200 นาย นำกองกำลังพันธมิตรสู้รบกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) แต่บุคคลสำคัญของอิรักกำลังประสานเสียงเรียกร้องให้สหรัฐถอนทหารออกไป เช่น มอคตาดา ซาดร์ นักการศาสนานิกายชีอะห์ผู้ต่อต้านสหรัฐอย่างรุนแรง จัดชุมนุมใหญ่ในกรุงแบกแดดเมื่อวันศุกร์ ผู้สนับสนุนหลายพันคนมารวมตัวกันเรียกร้องให้กองทัพสหรัฐออกไปจากอิรัก

ก่อนหน้านี้ซาดร์เคยสนับสนุนการประท้วงของนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลอิรักในกรุงแบกแดดและทางภาคใต้ แม้เขาควบคุม ส.ส.กลุ่มใหญ่สุดในสภาและตำแหน่งรัฐมนตรีระดับนำเอาไว้ เมื่อการจัดประท้วงของตนในวันศุกร์ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีซาดร์จึงประกาศว่าเขาเลิกสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปของคนหนุ่มสาว ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ต.ค.แล้ว ส่งผลให้ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ได้ชื่อว่าจัดตั้งมาดีและมีสมาชิกมากเริ่มสลายเต็นท์ชุมนุมและกลับบ้านทันที

บรรดานักเคลื่อนไหวเกรงว่า หากไม่มีบารมีของนักการศาสนารายนี้คุ้มครอง ทางการจะรีบสลายการชุมนุมซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ โดยตำรวจปราบจลาจลบุกค่ายประท้วงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ปฏิบัติการต่อเนื่องมาจนถึงวันอาทิตย์ ทหารใช้กระสุนจริงและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมตามจัตุรัสและท้องถนนที่ผู้ประท้วงเคยยึดครองไว้มาหลายเดือน

แหล่งข่าววงการแพทย์เผยว่า ล่าสุดผู้ประท้วงคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตในกรุงแบกแดด อีกคนเสียชีวิตที่เมืองนาสิริยาห์ทางภาคใต้ และบาดเจ็บอีกหลายสิบคนทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้เกิดความรุนแรงระลอกใหม่ แต่นักศึกษาอิรักหลายพันคนยังคงลงถนนทั้งในกรุงแบกแดดและทั่วภาคใต้ เพื่อเลี้ยงกระแสให้ประชาชนสนใจข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา ที่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเครือข่ายพรรคการเมืองใดหรือได้แรงหนุนจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ นักศึกษาเริ่มประท้วงตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ชนวนเหตุจากความไม่พอใจเรื่องการว่างงาน บริการภาครัฐย่ำแย่ ประเทศเต็มไปด้วยการทุจริต จากนั้นเสียงเรียกร้องขยายวงไปสู่การปฏิรูปและจบลงด้วยความรุนแรงตั้งแต่เริ่มชุมนุมมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 470 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วง

ตอนนี้ผู้ประท้วงเรียกร้องให้จัดเลือกตั้งใหม่ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอิสระ และดำเนินคดีกับคนทุจริตหรือสลายการชุมนุมนองเลือด

ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งอิรักเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น ประท้วงโดยสันติ