'ซีไอเอ็มบี' ปิดสาขาเซเว่นฯ เหตุยอดธุรกรรม 'หลุดเป้า'

'ซีไอเอ็มบี' ปิดสาขาเซเว่นฯ เหตุยอดธุรกรรม 'หลุดเป้า'

"ซีไอเอ็มบีไทย" รับปิดสาขาย่อยใน "เซเว่นอิเลฟเว่น" ทั้ง 2 แห่งตั้งแต่ปลายปี 62 หลังเปิดมากว่า 2ปี เหตุธุรกรรมไม่เข้าเป้า หลังยกเลิกค่าธรรมเนียมบนดิจิทัล ส่งผลให้ลูกค้าหันซบดิจิทัลมากขึ้น พร้อมปรับสัญญาใหม่กับเซเว่นฯ ตั้งเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์

     นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)(CIMBT) กล่าวว่า ธนาคารได้ปิดสาขาย่อยที่ให้บริการในร้านเซเว่นอิเลฟเว่นไปแล้วเมื่อปลายปี2562  ทั้ง2 สาขา คือ สาขาสีตบุตร กรุงเทพฯ และศุขประยูร ชลบุรี หลังเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2559 เนื่องจากยอดการทำธุรกรรมผ่านเซเว่นฯ น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้  ยอมรับว่ากลยุทธ์การเปิดสาขาในเซเว่ฯ ไม่ประสบความสําเร็จตามแผนที่วางไว้
    การปิดสาขาในเซเว่นฯ  ส่วนหนึ่งมาจากการยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมบนดิจิทัล ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น มีต้นทุนต่ำลง การธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้งเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากเดิมธนาคารคาดว่า จะใช้สาขาในเซเว่นฯ ปิดช่องระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ได้โดยใช้ระยะเวลา 5-7 ปี แต่เทคโนโลยีมาเร็วกว่าที่คาด ทำให้การเปล่ี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลใช้เวลาเพียง 2ปีเท่านั้น
     "จุดประสงค์ในการเปิดสาขาในเซเว่นฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าของธนาคาร ให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกขึ้น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ใช้บริการผ่านเซเว่นฯเป็นประจำอยู่แล้ว  ธนาคารจึงมองว่าสาขาผ่านเซเว่นน่าจะตอบโจทย์มากที่สุด แต่ด้วยเทคโนโลยีที่มาไวมากขึ้น ทำให้การปิดช่องว่าง ระหว่างการทำธุรกรรมแบบเดิมกับดิจิทัลมาไวกว่าคาด ใช้เวลาเพียง2ปีเท่านั้น  แม้ว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ถือเป็นบทเรียนสำคัญให้กับธนาคารในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจต่อไป"
    ทั้งนี้ แม้ยกเลิกการเปิดสาขาในเซเว่นฯไปแล้ว แต่ความร่วมมือระหว่างเซเว่นกับธนาคารยังคงมีอยู่  โดยจะให้เซเว่นฯ เป็นตัวแทนธนาคาร หรือ แบงกิ้งเอเย่นต์ในอนาคต ซึ่งมีแผนจะปรับสัญญากับเซเว่นฯอีกครั้งในเร็วๆนี้ เพราะคาดว่าผู้บริโภคยังมีความต้องการใช้เงินสดอยู่

    "เราเชื่อว่าในอนาคต แบงกิ้งเอเย่นต์จะเข้าไปตอบโจทย์ได้หลายด้าน ไม่ใช่แค่เป็นผู้ให้บริการแทนธนาคารเท่านั้น แต่แบงกิ้งเอเย่นต์จะเป็นช่องทางในการช่วยลูกค้าในการยืนยันตัวตน ในรูปแบบของ e-KYC และ NDID สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่คุ้นเคยกับดิจิทัลแพลตฟอร์มอีกด้วย ทำให้การเข้าถึงบริการธนาคารในอนาคตง่ายขึ้น รวดเร็วมากขึ้น"