จับตา 'โรงไฟฟ้าชุมชน' ระวัง 'ปัญหา' ซ้ำรอยอดีต

จับตา 'โรงไฟฟ้าชุมชน' ระวัง 'ปัญหา' ซ้ำรอยอดีต

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เมื่อวันที่ 16ธ.ค.62 เตรียมเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ 700 เกะวัตต์ ในปี2563แต่ในส่วนของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขพิจารณาคัดเลือกโครงการฯยังต้องติดตามต่อไป

หลังจาก กพช. ได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้า”โดยมีกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อคัดเลือกโครงการฯ จะต้องไปทำการบ้านกำหนดรายละเอียดต่างๆให้ครบถ้วนทันเปิดยื่นขอเสนอโครงการฯในช่วงต้นปี 2563 

การแต่งตั้งคณะกรรมการฯดังกล่าว ทำให้ภาพการพิจารณารับซื้อจากพลังงานทดแทนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า ทำให้คนในแวดวงพลังงาน ย้อนกลับไปนึกถึงสมัยเมื่อครั้งกระทรวงพลังงานเริ่มต้นเปิดส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในอดีต ก็จะผ่านรูปแบบการตั้งคณะกรรมการฯ มาพิจารณาคัดเลือกโครงการ โดยมีระดับ ปลัดฯ เป็นประธาน เพื่อดำเนินการกลั่นกรองโครงการ ทำให้การออกนโยบายด้านพลังงาน มักจะถูกกระแสวิพากษ์วิจารร์อย่างหนักในเรื่องของผลประโยชน์เบื้องหลัง

ขณะที่การสนับสนุนอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(แอดเดอร์)โซลาร์ฟาร์ม ยุคแรกๆ สูงถึง 8 บาทต่อหน่วย ก่อนทยอยลดลงมาเหลือกว่า 5 บาทต่อหน่วยในระยะหลัง ก็นับว่าเป็นอัตราจูงใจที่ทำให้เอกชนหลายรายในยุคนั้น แห่เข้ามาแย่งกันยื่นเสนอโครงการ และประโยชน์ต่างๆ จนเกิดกระแส “ล็อบบี้” โครงการ เพื่อให้ได้โครงการในยุคนั้น

 

157684559287

...ล่ำลือว่าการได้ครอบครองโครงการต้องวิ่งเต้นตั้งแต่เมกะวัตต์ละ 1-20 ล้านบาท และคุ้มค่าที่จะจ่ายเงินซื้อโครงการ เพราะคนทำโครงการมีแต่ได้ประโยชน์ 2 เด้ง ทั้งอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่จูงใจ และการสร้างราคาหุ้นในตลาดฯ แต่ผลพวงจากนโยบายในอดีต กลับสะท้อนมาถึงภาคประชาชนคนใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศที่ต้องแบกภาระจ่ายไฟฟ้าเพิ่มกว่า 20 สตางค์ต่อหน่วย หรือ เป็นเงินสะสมราว 2 แสนล้านบาท

จนกระทั่ง รัฐปรับนโยบายใหม่มาเป็นรูปแบบ “จับฉลาก”แทน ในโครงการโซลาร์ฟาร์ม(ราชการ/สหกรณ์) ระยะที่1 ในรูปแบบอัตราเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริง(ฟีดอินทารีฟ)หรือ FIT อัตรา 5.66 บาทต่อหน่วย แม้จะดูโปร่งใสมากขึ้นแต่ก็ต้องมีคอนเน็คชั่นแน่น และอัตรารับซื้อยังจูงใจลงทุน จนเกิดกระแสไล่ซื้อโครงการในภายหลังตามมา

ต่อมา รัฐปรับมาใช้รูปแบบ “เปิดประมูลแข่งขัน” ในโครงการ เอสพีพีไฮบริด 300 เมกะวัตต์ในปี 2560 ถือว่าเป็นโครงการที่ดีกับผู้ใช้ไฟฟ้า เพราะเอกชนยื่นแข่งขันกันจนได้ผู้ชนะ ที่เสนอค่าไฟฟ้าต่ำสุดเพียงกว่า 2 บาทต่อหน่วย และเอกชนที่เข้าแข่งขันก็เป็นผู้ที่ดำเนินโครงการได้ เพราะมีวัสดุเหลือใช้อยู่แล้ว เช่น พวกโรงงานน้ำตาล

ดังนั้น การเปิดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในปีหน้านั้น เป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้ง คณกรรมการฯขึ้นมาคัดเลือกโครงการ จะนำไปสู่กระแสวิพากวิจารณ์นโยบายรัฐซ้ำรอยอดีตหรือไม่ 

จทย์ของ คณะกรรมการฯชุดนี้ ต้องไปพิจารณาว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนอย่างไร เพื่อป้องกันข้อครหาที่จะตามมา รวมถึงต้องใช้ดุลยพินิจของกรรมการให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และที่สำคัญควรชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ รับรู้ว่าผลพวงจากนโยบายนี้จะสะท้อนไปสู่ค่าไฟฟ้าในอนาคตอย่างไร

...ประชาชนรับได้หรือไม่!