ส่องอนาคตหุ้น ‘กลุ่มแบงก์’ หลังดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ส่องอนาคตหุ้น ‘กลุ่มแบงก์’ หลังดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

การหั่นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงเหลือ 1.25% เท่ากับระดับที่เคยต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2546 และปี 2553

ตามทฤษฎีแล้ว เมื่ออัตราดอกเบี้ยถูกปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำลง ย่อมจะส่งผลลบต่อหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จะยิ่งแคบลงไปอีก

โดย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง จะกดดันให้อัตราดอกเบี้ย MOR และ MRR ของกลุ่มแบงก์โดยเฉลี่ยลดลงจากระดับ 3.5 – 4% เหลือเพียง 3% หรืออาจจะลดลงไปต่ำกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจภายหลังการลดดอกเบี้ยครั้งนี้คือ การตอบรับของหุ้นแบงก์ต่อการลดดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา กลับไม่ได้ปรับตัวลงอย่างที่คิด และหุ้นแบงก์บางตัวสามารถปรับตัวสวนขึ้นมาอีกด้วย อย่าง ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพิ่มขึ้น 1.37% ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพิ่มขึ้น 1.14% ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพิ่มขึ้น 0.43% และธนาคารกรุงไทย เพิ่มขึ้น 0.60% โดยรวมส่งผลให้ดัชนีกลุ่มแบงก์ขยับขึ้น 0.60%

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่เป็นเทรนด์ขาลงเช่นนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2554 ซึ่ง ธปท. เริ่มต้นหั่นดอกเบี้ยลงจาก 3.50% มาอยู่ที่ 3.25% หลังจากนั้นก็ปรับลดมาต่อเนื่องจนแตะระดับ 1.50% ในปี 2558

ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่า ณ ระดับ 1.50% น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยขาลงในรอบนี้แล้ว เพราะแบงก์ชาติตัดสินใจขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 1.75% ในช่วงปลายปี 2561

นับแต่ปี 2543 เทรนด์ดอกเบี้ยขาลงเกิดขึ้น 2 ช่วง คือระหว่างปี 2544 – 2547 รอบนั้นดอกเบี้ยลดลงจาก 2.5% ไปเหลือ 1.25% ถัดมาคือปี 2550 – 2553 ดอกเบี้ยลดจาก 5% เหลือเพียง 1.25% และในรอบนี้ จากระดับ 3.5% ในปี 2554 มาอยู่ที่ 1.25% ในปัจจุบัน

จาก 3 ช่วงที่ผ่านมามีเพียงปี 2550 – 2553 ซึ่งดัชนีกลุ่มแบงก์ลดลงไป 49% โดยครั้งนั้นเกิดเหตุการณ์พิเศษ คือ วิกฤตซับไพรม์ ในปี 2551 แต่ในอีก 2 ช่วงที่เหลือ จะเห็นว่าหุ้นในกลุ่มแบงก์ยังคงมีราคาปรับเพิ่มขึ้นได้ แม้อัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาลงก็ตาม

ปัจจัยหนึ่งที่อาจจะช่วยอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นคือ แม้อัตราดอกเบี้ยฝั่งเงินกู้จะถูกปรับลด ในขณะเดียวกันแบงก์พาณิชย์เองก็สามารที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยฝั่งเงินฝากให้ลดลงมาได้เช่นกันเพื่อรักษากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยเอาไว้ อย่างล่าสุด ธนาคารไทยพาณิย์ก็ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยทั้งสองขาลง

จันทนา ทวีรัตนศิลป์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย มองว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 รอบก่อนหน้านี้ แบงก์พาณิชย์ไม่ได้ปรับลดในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝากลง ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มแบงก์ถูกกดดัน แต่ในครั้งนี้เชื่อว่าแต่ละแบงก์จะลดดอกเบี้ยลงทั้ง 2 ขา เพื่อรักษาระดับส่วนต่างกำไรเอาไว้

“จะเห็นว่าราคาหุ้นของกลุ่มแบงก์ในรอบนี้ไม่ได้ตอบรับในเชิงลบ เพราะทางแบงก์ รวมถึงตลาดเองก็ประเมินอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ไว้แล้ว ทำให้ประมาณการกำไรของกลุ่มจะไม่ถูกกระทบ แต่ประเด็นที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือเรื่องของคุณภาพสินทรัพย์มากกว่า เมื่อดูจากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และแนวโน้มปีหน้า จะเห็นว่ายังมีความน่ากังวลอยู่ ทั้งจากสินเชื่อที่เติบโตช้า รายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง และเอ็นพีแอลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะกดดันให้กำไรโดยรวมแค่ทรงตัวจากนี้”

157321719335

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากสถิติในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะสะท้อนกำไรรวมของกลุ่มแบงก์ทั้งหมด อย่างในช่วงปี 2544 – 2548 แม้กำไรรวมทั้งกลุ่มของปี 2545 จะหดตัวลงจาก 8.47 หมื่นล้านบาท เหลือ 1.08 หมื่นล้านบาท แต่หลังจากนั้นกำไรรวมก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาแตะระดับ 9.42 หมื่นล้านบาท ในปี 2548 หนุนให้ราคาหุ้นค่อยๆ ปรับขึ้นราว 70-80%

หรืออย่างปี 2550 – 2558 กำไรรวมของกลุ่มแบงก์เพิ่มขึ้นจาก 5.5 พันล้านบาท ในปี 2550 มาแตะระดับ 2.06 แสนล้านบาท ในปี 2557 ก่อนจะหดตัวลงเหลือ 1.93 แสนล้านบาท ในปี 2558 ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ก็ปรับตัวขึ้นตาม โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 120% ในช่วงเวลาดังกล่าว

สุดท้ายแล้ว จะเห็นว่าประเด็นการลดดอกเบี้ยอาจจะทำให้เกิดความกังวลขึ้นมาได้บ้างในระยะสั้น แต่สิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อภาพระยะยาว คงจะหนีไม่พ้นผลประกอบการ ซึ่งก็คงจะต้องติดตามกันดูว่ากลุ่มแบงก์จะรับมืออย่างไรกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการคุกคามจากเทคโนโลยีที่ฉุดรายได้ค่าธรรมเนียมให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง