เปิดปัญหาท้าทายอาเซียนยุคอุตสาหกรรม4.0

เปิดปัญหาท้าทายอาเซียนยุคอุตสาหกรรม4.0

การประชุมอาเซียนซัมมิตที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจะเริ่มเปิดฉากอย่างเป็นทางการวันอาทิตย์ (3พ.ย.) นี้ ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่ท้าทายหลากหลายเรื่อง ไปฟังความเห็นจากบรรดานักวิชาการต่างประเทศที่มีมุมมองต่อพัฒนาการของอาเซียนได้จากรายงาน

“เชียง วรรณฤทธิ์” ประธานสถาบันวิสัยทัศน์เอเชีย มีความเห็นว่า อาเซียนประสบความสำเร็จเป็นพิเศษเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือภูมิภาคในการสร้างเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ เรื่องการเปิดเสรีการค้าการลงทุนมากยิ่งขึ้น เรื่องการอำนวยความสะดวกการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคและการเดินทางของบุคคล เรื่องการเพิ่มการไหลเวียนของสินค้าและบริการ

ขณะเดียวกัน ความท้าทายหลักที่รออาเซียนอยู่คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกไซเบอร์และเศรษฐกิจดิจิทัล ช่องว่างระหว่างสมาชิกเก่ากับสมาชิกใหม่

ด้าน “โจเซฟ แมทธิวส์” อาจารย์มหาวิทยาลัยระหว่างประเทศในกรุงพนมเปญ มองว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งประชาคมอาเซียนเมื่อปลายปี 2558 สมาชิกอาเซียนไม่เพียงรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ แต่ยังเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ ความท้าทายหลักของอาเซียนคือ ความแตกต่างในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพการศึกษาระหว่างชาติสมาชิก

อาเซียนจึงควรแบ่งปันระบบการศึกษา ความรู้ หลักสูตร และงานวิจัยต่าง ๆ ระหว่างกัน การไล่ตามให้ทันการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การเปลี่ยนจากเศรษฐกิจธรรมดาเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมเน้นใช้แรงงานสูงเป็นอุตสาหกรรมเน้นความรู้ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ การลดช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน การแก้ปัญหาแรงงานข้ามพรมแดนและแรงงานลอบเข้าเมือง

แมทธิวส์ แนะว่า หากอาเซียนต้องการอยู่รอดในบรรยากาศที่กระแสเอกภาคนิยมและการปกป้องทางการค้ากำลังเข้ามาแทนที่พหุภาคีนิยมและข้อตกลงเขตการค้าเสรีอย่างรวดเร็ว อาเซียนควรดำเนินการเป็นกลุ่มและเป็นประชาคมเดียวเพื่อรับมือกับกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์และศัตรูของการพัฒนาโลก

ขณะที่ “ลูซิโอ ปิตโล” นักวิชาการโครงการจีนศึกษา มหาวิทยาลัยอาตีนีโอ เดอ มะนิลา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซินหัวของจีน ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องที่ไทยว่า จีน เป็นหุ้นส่วนสำคัญของอาเซียนและจะช่วยอาเซียนได้มากเพราะมีประสบการณ์เรื่องการลดความยากจน มีตลาดขนาดใหญ่ มีศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการผลิต มีการลงทุนที่มุ่งต่างประเทศ มีเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจอีคอมเมิร์ซความร่วมมือในเรื่องเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เขามองว่า ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของจีนกับอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการพัฒนาและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้

นายปิตโล ชี้ว่า อาเซียนสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของจีนในการทำให้ประชากร 800 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนได้ภายในเวลา 40 ปีของการปฏิรูปและเปิดประเทศ ส่วนเรื่องความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน เขามองว่า แผนแม่บทเรื่องความเชื่อมโยงในอาเซียน และโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ที่เป็นความริเริ่มของจีน มีจุดบรรจบกันอย่างชัดเจน เอื้อต่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ร่วมกัน

นายปิตโล ระบุด้วยว่า เศรษฐกิจจะเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกัน ปีที่แล้วมูลค่าการค้าของสองฝ่ายสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 587,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 17.73 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 14.1% จากปี 2560 และในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อาเซียน แซงหน้าสหรัฐขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับสองของจีนเป็นครั้งแรก คาดว่า มูลค่าการค้าตลอดทั้งปีนี้จะแตะ 600,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 18 ล้านล้านบาท)