'เพซ'งัด3แผนแก้หนี้ก้อนโต ลุ้น'ไทยพาณิชย์'เคาะสรุปก่อน4พ.ย.นี้

'เพซ'งัด3แผนแก้หนี้ก้อนโต ลุ้น'ไทยพาณิชย์'เคาะสรุปก่อน4พ.ย.นี้

“เพซ” เดินหน้าถก “แบงก์เอสซีบี” ชง 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้ก้อนโตกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ทั้ง “หาพันธมิตรใหม่-แปลงหนี้เป็นทุน-ขอฟื้นฟูกิจการ” หวังได้ข้อสรุปก่อน 4 พ.ย.นี้ หลังเอสซีบีร่อนหนังสือกำหนดเส้นตายชำระหนี้ภายในเดือนพ.ย.นี้ทะลักกว่า 9,479 ล้านบาท

วิบากกรรมหนี้ “เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น” หรือ PACE ส่อแววปะทุอีกครั้ง หลังล่าสุดเจ้าหนี้รายใหญ่อย่าง “ธนาคารไทยพาณิชย์” จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ร่อนหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 9,479 ล้านบาท พร้อมกำหนดเส้นตายให้ชำระหนี้ทั้งหมดภายในช่วงเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งมูลหนี้ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ก้อน ได้แก่ 

1.มูลหนี้ที่ไม่สามารถชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยของวงเงินสินเชื่อตามจำนวน หรือตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาสินเชื่อประมาณ 2,697 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดชำระวันที่ 4 พ.ย.นี้ และ2.มูลหนี้ผิดสัญญาภายใต้สัญญาสินเชื่อใดๆหรือเอกสารอื่นใด (cross default) มูลหนี้ 6,781 ล้านบาท ซึ่งกำหนดชำระหนี้ 20 พ.ย.2562

งานนี้กำลังกลายเป็นระเบิดลูกโตสำหรับ “เพซและแบงก์เอสซีบี” เพราะปัจจุบัน PACE มีมูลหนี้กับแบงก์ SCB รวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากการเจรจาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ของทั้งสองฝ่ายล้มเหลวหรือไม่สามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ทันก่อนเส้นตายภายในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ก็เท่ากับว่าจะส่งผลให้ PACE จะผิดนัดชำระหนี้ก้อนแรกมูลค่า 2,697 ล้านบาท และลุกลามบานปลายไปยังมูลหนี้อื่นๆที่มีกับ SCB อีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงหนี้หุ้นกู้อีกราว 1,219 ล้านบาท ซึ่งกลายเป็นมหากาฬหนี้ก้อนโตของวงการตลาดการเงินไทยอีกระลอก

ด้าน นายต่อศักดิ์ วยากรณ์วิจิตร ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ PACE กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวผู้บริหารไม่ได้นิ่งนอนใจและไม่อยากให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น จึงได้เจรจากับแบงก์ SCB ในการปรับโครงสร้างหนี้มาโดยตลอด ซึ่งเริ่มเจรจาตั้งแต่กลางปี 2562 และที่ผ่านมาได้เตรียมการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ผลการหาแนวทางร่วมกันอย่างเป็นทางการต้องรอลุ้นว่าก่อนกำหนดเส้นตายวันที่ 4 พ.ย.นี้จะมีแนวทางอะไรออกมาเพิ่มเติมหรือไม่

ทั้งนี้ในส่วนของแนวทางการแก้ปัญหาในครั้งนี้นั้น ยอมรับว่ามีอยู่หลายแนวทาง เช่น การหาพันธมิตรหรือผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามาช่วยชำระหนี้ หรืออาจมีการแปลงหนี้เป็นทุน รวมถึงไม่ปิดกั้นแนวทางการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอฟื้นฟูกิจการ เพราะเบื้องต้นมองว่ามีโอกาสความเป็นไปได้หมดทุกแนวทาง แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ทางแบงก์ SCB จะเป็นผู้พิจารณา

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้ดีจะพบว่าแนวทางสุดท้ายมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด เพราะบริษัทยังมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน โดยสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย.2562 มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท และมูลหนี้ที่มีกับทางแบงก์ SCB ต่างก็มีหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งหมด นอกจากนี้ในส่วนของ 3 โครงการอสังหาฯที่บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการนิมิตหลังสวน,โครงการวินด์เชลล์นราธิวาส และโครงการมหาสมุทร ต่างก็มีมูลค่ารวมกันราว 14,000 ล้านบาท รวมถึงบริษัทยังมีแผนจะนำบริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกด้วย โดยคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งได้ภายในปี 2564

157252686412

ด้าน นายประเสริฐ ภัทรดิลก กรรมการ PACE กล่าวว่า ความคืบหน้าในการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ของบริษัทนั้น ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับแบงก์ SCB ในการทำแผนปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัท ซึ่งเบื้องต้นมีแนวทางการแก้ปัญหาอยู่หลายทาง โดยขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับทางแบงก์ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ขณะที่เรื่องการเข้าแผนพื้นฟูกิจการนั้น เรื่องนี้ตนเองไม่ทราบ เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ 

“บริษัทกำลังคุยกับแบงก์ไทยพาณิชย์ว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร ซึ่งแม้มูลหนี้จะมีค่อนข้างเยอะ แต่บริษัทก็มีทรัพย์สินเยอะเช่นกัน โดยทั้งสองฝ่ายต่างต้องคุยกันและหาทางปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทอย่างไรเพื่อให้การแก้ไขปัญหาผ่านไปได้”