มติพรรค vs เอกสิทธิ์ส.ส. กฎหมายให้ใครใหญ่กว่ากัน

มติพรรค vs เอกสิทธิ์ส.ส.  กฎหมายให้ใครใหญ่กว่ากัน

ควันหลงการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในวาระแรก และการอนุมัติ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย ก.กลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ปี2562

สะท้อนให้เห็นถึงแรากฎการณ์ “งูเห่า”  โดยเฉพาะไร่ส้มอย่าง พรรคอนาคตใหม่ที่หลังจากนี้จ้องจับตาการประชุมสำคัญ คือการเคลียร์ปัญหา “งูเห่าสีส้ม” จากกรณี ส.ส.ชลบุรี

“กวินนาถ ตาคีย์”  โหวตสวนมติพรรคด้วยการสนับสนุนร่างพ.ร.บ.งบประมาณ และอนุมัติพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลถึง2ครั้งติดต่อกัน  นอกจากกวินนาถแล้วยังไม่ส.ส.จากค่ายสีส้มรวม 5 คนที่โหวตสวนมติพรรค

คนที่ดูเหมือนว่าจะควันออกหู หนีไม่พ้น “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรค ถึงขั้นประกาศกร้าวกลางที่ประชุม พร้อมสั่งห้าม ส.ส.ชลุบรี ร่วมทุกกิจกรรมของพรรค รวมทั้งเตรียมตั้งคณะกรรมการสอบสวนหลังจบศึกเลือกตั้งซ่อมจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีโทษ 4 สถาน คือ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ ตัดสิทธิในพรรคบางประการ และขั้นร้ายแรง คือ ไล่ออกหรือขับออกจากพรรค

พร้อมย้ำว่า “หากปล่อยให้ ส.ส. ลงมติได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมติพรรค ก็ไม่ทราบว่าจะมีพรรคการเมืองไปเพื่ออะไร และ ส.ส.จะสังกัดพรรคการเมืองไปเพื่ออะไร” อีกทั้งยังเคยแย้มไว้ก่อนหน้านี้ จะใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 46 และมาตรา 116 จัดการผู้หักหลังอุดมการณ์พรรคด้วย

ประเด็นที่กลายเป็นคำถามคือ พรรคการเมืองสามารถลงโทษ ส.ส.ที่แหกมติพรรคเพื่อโหวตในสภาได้หรือไม่ เพราะการโหวตถือเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.?

อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต ฉายภาพให้เห็นว่า การโหวตสวนมติพรรคไม่ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 114 และมาตรา 124 ที่คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่และการลงมติของส.ส. ถ้าตราบใดเป็นการทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แม้จะเห็นต่างจากมติพรรค ก็สามารถทำได้ ส่วนปัญหาภายในพรรค ทางพรรคต้องไปพูดคุยกันเอง

ระเบียบข้อบังคับของพรรคนั้น เป็นคนละกรณีกับความสัมพันธ์ระหว่าง ส.ส.ที่มีต่อประชาชน ส่วนจะอยู่ร่วมพรรคต่อหรือไม่ ขึ้นกับสมาชิกพรรค และผู้บริหารพรรค เพราะมีระเบียบ มีกติกา หากไม่ทำตามมติต้องถูกขับออกหรือไม่ เป็นเรื่องข้อตกลงของแต่ละพรรค แต่ท้ายที่สุดต้องยอมรับว่าการเมืองมีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย จะบอกว่าเมื่อเป็นพรรคแล้วต้องเห็นด้วยหมดก็ไม่ใช่ ไม่ลงมติตามพรรคก็คงไม่ใช่ เพราะกฎหมายให้เสรีภาพ ส่วนจะขึ้นบํญชีดำไม่ให้มีบทบาทหรือไม่ส่งลงสมัคร ส.ส.สมัยหน้า ก็สุดแท้แต่ข้อตกลงภายในพรรคเอง

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง สมชัย ศรีสุทธิยากร อธิบายเพิ่มเติมว่า อย่างแรกเลยต้องดูระเบียบข้อบังคับพรรค แม้การลงมติจะเป็นเอกสิทธิ์ส.ส. ทว่าแต่ละพรรคก็มีระเบียบ / มารยาท และข้อควรปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งกรรมการบริหารพรรคเองก็มีสิทธิ์จัดการกับ ส.ส.ที่ไม่ปฏิบัติตาม เปรียบดั่งมีดาบคนละเล่ม ซึ่งเป็นระบบที่ถูกออกมาแบบเพื่อแก้ปัญหาในอดีต

อาจารย์สมชัย ตั้งข้อสังเกตว่า การโหวตสวนกับมติพรรค อาจเข้าทางทางการเมือง คือ ส.ส.ต้องการให้พรรคมีมติขับออก เพื่อย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ภายใน 30 วันตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ ดังนั้นทั้งหมดจึงอยู่ที่พรรคอนาคตใหม่จะพิจารณาว่าการดำเนินการที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน เนื่องจากแต่ละพรรคก็มีความแตกต่างกันออกไป

ส่วนดาบของอนาคตใหม่ที่เตรียมไว้บั่นคอ ส.ส. ก็คืออาจจะโดนเอาผิดตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 46 ซึ่งมีโทษถึงจำคุก 10 ปีถึง 20 ปี และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย ซึ่งเมื่อกฎหมายเขียนไว้แบบไม่กำหนดระยะเวลา อาจตีความได้ว่าถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต

แต่ประเด็นก็คือ พรรคอนาคตใหม่มีหลักฐานแค่ไหนที่จะมัด ส.ส.ของตนว่าเป็น “งูเห่าสีส้ม” ฉะนั้นถ้าหลักฐานไม่ชัด หรือจริงๆ แล้ว ส.ส.โหวตโดยไม่มีผลประโยชน์ พรรคก็เอาผิดไม่ได้ 

ปรากฎการณ์งูเห่าที่เกิดขึ้นคงต้องติดตามในอนาคตพรรคจะคุมส.ส.เหล่านี้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อความขัดแย้งจากการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นได้สร้างรอยร้าวให้ขยายวงไปเรื่อยๆ!!