หุ้น ‘รับเหมา-แบงก์’ เฮ! รับงบประมาณปี 63

หุ้น ‘รับเหมา-แบงก์’ เฮ! รับงบประมาณปี 63

เริ่มต้นขึ้นแล้วกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดอภิปรายไปแล้ววานนี้ (17 ต.ค.) และจะลงมติวาระที่ 1 ในวันที่ 19 ต.ค. เท่ากับว่าใช้เวลาพิจารณา 3 วันเต็มๆ

ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 3.2 ล้านล้านบาท และเป็นงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ 4.69 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9 หมื่นล้านบาท หรือ 4.2% เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2562

การจัดทำงบประมาณปี 2563 อยู่ภายใต้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโต 3-4% รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศเร่งตัวขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐ

ต้องยอมรับว่าการพิจารณาร่างงบประมาณในครั้งนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะล่าช้ามานานเนื่องจากคาบเกี่ยวกับช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ซึ่งกว่าจะจัดตั้งได้กินเวลาหลายเดือน ทำให้การพิจารณางบประมาณล่าช้าตามไปด้วย ส่งผลให้การใช้จ่ายการลงทุนของภาครัฐอาจทำได้ไม่เต็มที่ เพราะขาดเส้นเลือดหลักมาหล่อเลี้ยง

นอกจากนี้ ยังเป็นการวัดพลังของรัฐบาล ซาวด์เช็คคะแนนเสียงไปในตัว ชี้ชะตาอนาคตว่าจะได้อยู่ต่อ หรือ ต้องโบกมือบ๊ายบาย… ไปก่อน เพราะแน่นอนว่าถ้าโหวตไม่ผ่านรัฐบาลต้องลาออก ยุบสภาไปเลือกตั้งกันใหม่ เนื่องจากไม่มีงบประมาณมาบริหารประเทศ แต่ดูแล้วคงเป็นไปได้ยาก 

เพราะตอนนี้ทุกฝ่ายฟันธงเหมือนกันว่าไม่น่ามีปัญหา โหวตผ่านแน่นอน แม้คะแนนเสียงจะปริ่มน้ำก็ตาม ซึ่งถ้าผ่านวาระ 1 จะส่งให้กรรมธิการพิจารณา ก่อนนำกลับเข้าสู่สภาฯ เพื่อพิจารณาวาระ 2-3 ต่อไป โดยไม่มีการลงมติ ช่วงต้นเดือนม.ค. 2563 และนำเสนอ สว. เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งถ้าเป็นไปตามไทม์ไลนนี้ น่าจะเริ่มต้นเบิกจ่ายงบประมาณได้เร็วสุดภายในเดือนก.พ. 2563

แน่นอนว่าเมื่อมีการเบิกจ่ายงบประมาณใหม่จะช่วยเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐที่จัดสรรลงไปตามกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ โดย 5 กระทรวงที่ได้รับงบประมาณปี 2563 มากที่สุด ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ 368,660 ล้านบาท, กระทรวงมหาดไทย 353,007 ล้านบาท, กระทรวงการคลัง 249,675 ล้านบาท, กระทรวงกลาโหม 233,353 ล้านบาท และ กระทรวงคมนาคม 178,840 ล้านบาท

ในฝั่งของตลาดทุนย่อมได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยกลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดก่อนคนอื่นๆ น่าจะเป็นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง เพราะรัฐบาลต้องเร่งใส่เกียร์เดินหน้าลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับพี่น้องประชาชน ตามที่ระบุไว้ในร่างงบประมาณ

ขณะที่กระทรวงคมนาคมเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ได้รับงบฯ ไปมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งดูตามแผนงานแล้วมีอีกหลายโครงการที่เตรียมผลักดันออกมา ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ รวมถึงโครงการสำคัญๆ ในพื้นที่อีอีซี เรียกว่าเป็นข่าวดีของหุ้นรับเหมา นาทีนี้ที่โดดเด่นเข้าตาแซงหน้าเพื่อนๆ ในกลุ่มต้องหลีกทางให้ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี

ส่วนตัวอื่นๆ ยังเน้นที่หุ้นใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD อีกหนึ่งตัวที่ลืมไม่ได้ บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO เจ้าพ่องานฐานรากและเสาเข็มเจาะของเมืองไทย ส่วนบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO จะได้ประโยชน์จากความต้องการใช้ยางมะตอยที่เพิ่มขึ้น

เมื่อภาครัฐเดินหน้าลงทุน ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน เชื่อว่าเมื่อรัฐนำร่องแล้ว เอกชนพร้อมที่จะควักเงินลงทุนตาม หนุนความต้องการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง กลุ่มนี้แบงก์ใหญ่ยังได้เปรียบ ทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ส่วนแบงก์รัฐ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB มองข้ามไม่ได้

อีกกลุ่มที่จะได้รับอานิสงส์ตามมา แม้อาจไม่ได้ปุ๊บปั๊บเท่า 2 กลุ่มแรก คือ ค้าปลีก เพราะต้องรอให้เงินลงไปถึงมือประชาชนก่อน เชื่อว่ารัฐบาลเตรียมเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศออกมาอีกแน่นอน ถ้ามาเมื่อไหร่ค้าปลีกเตรียมเฮได้เลย กลุ่มนี้หุ้นเด่นมีบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ควงคู่มาพร้อมกับ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC