5 เขื่อนแม่โขง ‘ลาว’ ล่ามโซ่สายน้ำ I ลัดเลาะริมโขง

ปลายเดือน ต.ค. 2562 “เขื่อนไซยะบุลี” ที่กั้นแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว จะเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ หลังทดลองผลิตไฟฟ้ายูนิตแรกให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มาแล้ว
เขื่อนไซยะบุลี เป็นเขื่อนแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขง ตอนล่าง มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนไทย กัมพูชาและเวียดนาม พร้อมเอ็นจีโอนานาชาติ เนื่องจากมีข้อกังวลอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงและระบบนิเวศ ทั้งผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประเทศเพื่อนบ้าน
รัฐบาลลาวไม่สนใจเสียงคัดค้าน เดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุลี จนเสร็จสมบูรณ์ในปลายเดือนนี้ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกของกลุ่มทุนไทยคือ ช.การช่าง ในการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง
ล่าสุด 11 ต.ค. 2562 ท่านสมสะหวาด เล่งสะหวัด ที่ปรึกษาคณะบริหารศูนย์กลางพรรค และท่านคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ พร้อมตัวแทนคณะผู้บริหารโครงการเขื่อนดอนสะโฮง เข้าร่วมพิธีทดลองเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องที่ 1 ของโครงการ “เขื่อนดอนสะโฮง”
เขื่อนดอนสะโฮง มีจุดที่ตั้งเขื่อนอยู่บนแม่น้ำโขง บริเวณสี่พันดอน เมืองโขง แขวงจำปาสัก โดยมีการสร้างเขื่อนกั้น “ฮูสะโฮง” ทางน้ำไหลธรรมชาติ ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 260 เมกะวัตต์ ความสูง 25 เมตร
โครงดอนสะโฮง มีมูลค่าราว 723.1 ล้านดอลลาร์ ถือหุ้นใหญ่ 80% โดย บริษัท Mega First Corporation Berhad (MFCB) จากมาเลเซีย รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าลาว 20%
ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนดอนสะโฮง จะสนอง 4 แขวงภาคใต้ คือแขวงสาละวัน แขวงอัตตะปือ แขวงเซกอง และแขวงจำปาสัก และที่เหลือส่งขายให้กัมพูชา
การไฟฟ้าลาวได้เซ็นสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่กัมพูชาเป็นที่เรียบร้อย โดยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เดินทางมาเยี่ยมชมการก่อสร้างโครงการดอนสะโฮงด้วยตัวเอง
ท่านคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีพลังงานของลาว กล่าวย้ำว่า เขื่อนไซยะบุลี และเขื่อนดอนสะโฮง เป็นโครงการยุทธศาสตร์ของรัฐบาลลาว ในการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่สร้างอยู่บนแม่น้ำโขง ซึ่งมีลักษณะพิเศษ มีผลประโยชน์สูงสุด กระทบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด
ในแผนการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ สปป.ลาว จากนี้ไปจนถึงปี 2563 จะให้บรรลุเป้าหมายการแสวงหาแหล่งผลิตไฟฟ้า 60 แห่ง ซึ่งปัจจุบัน ทั้งเขื่อนพลังน้ำ และโครงการไฟฟ้าถ่านหิน ก่อสร้างสำเร็จไปแล้ว 38 แห่ง ด้วยเม็ดเงินลงทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ และมีกำลังติดตั้ง 6,265 เมกะวัตต์
รัฐบาลลาว กำลังจะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงอีก 3 แห่งคือ เขื่อนปากแบ่ง แขวงอุดมไซ ที่มีการสำรวจออกแบบเรียบร้อยแล้ว เขื่อนหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง และเขื่อนปากลาย แขวงไซยะบุลี
ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนคือ เขื่อนหลวงพระบาง โดยกรรมาธิการแม่น้ำโขงออกโรงขอให้มีการศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน แต่รัฐบาลลาวประกาศ ปี 2563 คิกออฟการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง โดยกลุ่มทุนเวียดนามเป็นเจ้าของโครงการ และอาจมี ช.การช่าง เข้าไปร่วมด้วย
แม้จะมีเสียงตะโกนว่า น้ำโขงกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ แต่รัฐบาลลาวทำเป็นหูทวนลม เพราะความต้องการเม็ดเงินจากการขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้าน สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากความยากจน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เคาะเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือสำหรับเขื่อนแห่งที่ 5
-'เขื่อน' คอยฝน ต้นเหตุ 'น้ำงึมมรณะ' I ลัดเลาะริมโขง
-'เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ' กระทบชีวิตชาติริมโขง
-ไทยส่งหนังสือด่วนถึงลาว ขอชะลอทดสอบเขื่อนไซยะบุรี
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
'ทรัมป์' ร่วง รีพับลิกันล่ม ประชาธิปไตยรุ่ง
'ตลาดหุ้น' ที่ไหนจะรุ่ง ที่ไหนจะร่วง ในปี 2021
"Weekly Oil" report 18 January 2021