‘เขื่อน’ คอยฝน ต้นเหตุ ‘น้ำงึมมรณะ’ I ลัดเลาะริมโขง

‘เขื่อน’ คอยฝน ต้นเหตุ ‘น้ำงึมมรณะ’ I ลัดเลาะริมโขง

ธรรมชาติแปรปรวน ชวนให้ผู้คนสงสัย โดยเฉพาะชาวโซเชียลลาว ที่แชร์ภาพ “น้ำงึม” ใต้เขื่อนแห้งขอดตลอดสาย แม้จะเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ 6 แขวงภาคกลางและภาคใต้ แต่ภาคเหนือตอนกลางอย่างแถวแขวงเชียงขวาง มีปริมาณฝนน้อย

อยากให้ย้อนดูภาพน้ำท่วมปีที่แล้ว ฝนตกเยอะ น้ำล้นอ่าง เขื่อนน้ำงึม 1 เร่งปล่อยน้ำ 700 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ประชาชน 2 เมืองคือ เมืองแก้วอุดม และเมืองทุละคม แขวงเวียงจันทน์ ประสบภัยน้ำท่วมนานนับเดือน

แม่น้ำงึมหรือ “น้ำงึม” มีต้นน้ำอยู่ในบริเวณเทือกเขาสูง เมืองพูกูด แขวงเชียงขวาง น้ำงึมไหลลงมาทางทิศใต้ผ่านแขวงเวียงจันทน์ และบรรจบแม่น้ำโขงที่เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์

2 เดือนก่อน สมใจ สีจันทะลาด รองผู้อำนวยการเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 ให้สัมภาษณ์สื่อลาวว่า หน้าฝนปีนี้ อ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำงึม 1 มีปริมาณน้ำ 3,956 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 55.6% ของความจุน้ำเต็มอ่าง จึงปล่อยน้ำออกจากเขื่อน 120 ลบ.ม.ต่อวินาที

มาถึงวันนี้ ไม่มีพายุฝนพัดผ่านแถวต้นน้ำงึม ปริมาณน้ำในอ่างลดลงเรื่อย ๆ และที่น่ากังวล เขื่อนน้ำงึม 1 ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 40 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง เทียบกับเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ผลิตได้ 100 กว่าล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ช่วงหน้าแล้งที่จะมาถึงในปีหน้า เขื่อนน้ำงึม 1 อาจถึงขั้นหยุดผลิตกระแสไฟฟ้า หากจากนี้ไป ไม่มีน้ำฝนลงมาเติมในอ่างเหนือเขื่อน

เขื่อนน้ำงึม 1 เป็นโครงการพลังงานไฟฟ้า ที่เกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลเจ้าสุวันนะพูมา กับรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และดำเนินการก่อสร้างโดยรัฐบาลญี่ปุ่น สร้างเสร็จในปี 2514 และปีถัดมา เจ้ามหาชีวิตสีสะหว่างวัดนะทนาแห่งล้านช้าง เสด็จฯ ทรงทำพิธิเปิดเขื่อนน้ำงึม 1

เริ่มแรก เขื่อนน้ำงึม 1 มีกำลังผลิตไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 155 เมกะวัตต์ โดยลูกค้าหลักที่ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าน้ำงึม 1 คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

นอกจากเขื่อนน้ำงึม 1 รัฐบาลลาว ได้แผนการจะสร้างเขื่อนบนสายน้ำงึมอีก 4 เขื่อน ซึ่งโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว ได้แก่ เขื่อนน้ำงึม 2 เมืองแก้วอุดม แขวงเวียงจันทน์ และเขื่อนน้ำงึม 5 เมืองพูกูด แขวงเชียงขวาง ส่วนเขื่อนน้ำงึม 3 เมืองล่องแจ้ง แขวงไชสมบูน และเขื่อนน้ำงึม 4 เมืองพูกูด แขวงเชียงขวาง ยังก่อสร้างไม่เสร็จ

ชาวบ้านแถวบ้านเกิน เมืองทุละคม แขวงเวียงจันทน์ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นับแต่มีการสร้างการเขื่อนน้ำงึม 1 มาเกือบ 50 ปี ก็เพิ่งเห็นน้ำงึมแห้งผิดปกติ และจะส่งผลกระทบการปลูกข้าว “นาแซง” (นาปรัง) อย่างแน่นอน

สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวแถว “ขัวท่าง่อน” (สะพานท่าง่อน) เมืองไชทานี นครหลวงเวียงจันทน์ ที่มีผู้ประกอบกิจการร้านอาหารในเรือนแพจำนวนมาก เมื่อปริมาณน้ำที่ลดลง ย่อมส่งผลให้เรือแพล่องน้ำงึมไม่ได้

แม่น้ำงึม เปรียบสายเลือดหล่อเลี้ยงชาวกสิกรแขวงเวียงจันทน์ ปีที่แล้ว ไร่นาจมน้ำ ปีนี้ ไร่นาขาดน้ำ ผลผลิตข้าวในประเทศขาดแคลน ราคาขายปลีกข้าวสารเหนียวในตลาดจึงพุ่งสูง เพราะต้องนำเข้าข้าวเหนียวจากไทยและเวียดนาม

อุทาหรณ์จากน้ำงึมวิกฤติ บอกให้รู้ว่า เขื่อนไม่ใช่พระเจ้า ที่จะแก้ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วมได้ดั่งคำโฆษณาชวนเชื่อ