การแข่งขันทางการค้าในประชาคมอาเซียน

การแข่งขันทางการค้าในประชาคมอาเซียน

คอลัมน์วันนี้จะเป็นเรื่องของความสามารถในการแข่งขันในทางการค้าของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน

แรกเริ่มฟังดูแล้วคล้ายกับว่าจะเป็นการพูดถึงระดับความสามารถของประเทศสมาชิกในการที่จะแข่งขันโดยรวมกับประเทศอื่นหรือภูมิภาคอื่น

การมองถึงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคโดยรวมของทุกประเทศ ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการที่จะพูดถึงสภาวะความสามารถของการแข่งขันของประเทศนั้น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคตลาดแข่งขันเสรี สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลาก็คือความสามารถในการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในทางการค้าการพาณิชย์ภายในประเทศได้อย่างเป็นอิสระโดยปราศจากความได้เปรียบเสียเปรียบของบรรดาวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่ และมีส่วนแบ่งตลาดที่แตกต่างกัน

การแข่งขันในทางการค้าของวิสาหกิจภายในประเทศ จะเป็นการแข่งขันโดยเสรีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ แนวนโยบายของรัฐเป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา แนวคิดในเรื่องของการค้าเสรีระหว่างรัฐนั้นเกิดขึ้นเพราะ ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่รวมเอาหลายมลรัฐเข้าไว้ด้วยกัน และแต่ละมลรัฐนั้น มีกิจการพาณิชย์และวิสาหกิจของตัวเอง การที่จะทำให้วิสาหกิจของมลรัฐเจริญเติบโตได้นั้น ต้องพึ่งตลาดของทุกมลรัฐ สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกานั้นหมายความว่า มลรัฐทั้งหลายสามารถที่จะค้าขายข้ามรัฐได้โดยไม่มีข้อจำกัดในทางการค้า หรือที่นิยมเรียกว่ากำแพงการค้า และที่สำคัญคือ ไม่มีวิสาหกิจของมลรัฐใดที่ผูกขาดการค้าไว้ภายในรัฐของตนแต่เพียงผู้เดียว

อาเซียนนั้นได้รับการขนานนามว่า เป็นป้อมปราการของประเทศสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหมายความว่าประเทศต่าง ๆ ยอมรวมตัวกันเพื่อที่จะหาหนทางในการเพิ่มพลังในการค้าระหว่างประเทศ แต่อาเซียนยังไปได้ไม่ไกลนักในเรื่องนี้ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่มีการพัฒนาในเรื่องนี้มาก่อนแล้ว จึงมีความแตกต่างกันอยู่มาก เพราะโครงสร้างของบูรณาการประชาคมอาเซียนนั้นยังอยู่ในระดับแรกเริ่ม จะว่าไปแล้วถือเป็นการบูรณาการในระดับของการเปิดตลาดในประเทศสมาชิกให้แก่กันและกัน และกำลังก้าวเข้าไปสู่การเป็นตลาดร่วม

เมื่อพูดถึงเรื่องการแข่งขันทางการค้าแล้ว บรรดาประเทศเสรีทั้งหลายก็มักจะมองประเทศอื่น ๆ ว่า มีเสรีภาพในเรื่องของการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน เสรีภาพในการแข่งขันนั้นบางทีก็จะต้องหมายความว่า ผู้ที่เข้ามาแข่งขันกันนั้นจะอยู่ในระดับความสามารถเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้

ยึดครองตลาดเอาไว้คนเดียวมาได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น โอกาสที่คู่แข่งจะเกิดขึ้นได้ก็มียาก การแข่งขันทางการค้านั้น มองกันว่าในประเทศที่ส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางการค้าจะต้องมีกฎเกณฑ์และกติกาที่เอื้ออำนวยต่อการแข่งขันในทางการค้า โดยจะต้องระมัดระวังมิให้มี ผู้ดำเนินการหรือผู้ประกอบกิจการรายใดหรือหลายรายที่ผูกขาดการค้าด้วยวิธีการต่าง ๆ การผูกขาดทางการค้านั้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นเรื่องใหญ่และในสหภาพยุโรปก็ถือว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้าเป็นกฎหมายสำคัญสำหรับการ เปิดเสรีตลาดการค้า ซึ่งจะยังผลให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้

ทั้งนี้ ในปี 2018 เวิลด์อีโคโนมิคฟอรัม จัดอันดับของบรรดาประเทศต่าง ๆ ว่าประเทศใดบ้าง มีการเปิดเสรีทางการค้าและมีกฎหมายเรื่องการแข่งขันทางการค้าที่ยุติธรรม หรือมีกฎหมายป้องกันการผูกขาดทางการค้า ผลปรากฏว่าในบรรดาสมาชิกประเทศอาเซียนด้วยกันนั้น สิงคโปร์เป็นประเทศที่อยู่ในอันดับ 2 ของโลกในเรื่องของการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันโดยเสรี และประเทศที่ถูกจัดอันดับไว้ต่ำมากก็คือประเทศกัมพูชา และ ส.ป.ป.ลาว คือ อันดับที่ 111 และ 112 ของ 140 ประเทศในโลกส่วนประเทศไทยนั้น เป็นประเทศที่ถือว่ามีการเปิดโอกาสในเรื่องของเสรีทางการค้า อันดับที่ 38 สูงกว่าเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา และส.ป.ป.ลาว แต่ยังต่ำกว่ามาเลเซีย จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าถ้าประเทศไทย ต้องการที่จะเข้าแข่งขัน กับ ประเทศอื่น ๆ คงต้องหันมาสร้างความเป็นธรรมในทางการค้าให้สูงขึ้นอีก

คงต้องย้อนกลับมาถามประเทศอื่น ๆ ในประชาคมอาเซียนว่า กลไกของประเทศในเรื่องของการป้องกันการผูกขาดหรือการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในทางการค้าที่เป็นธรรมนั้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากน้อยเพียงไรการที่เขาจัดอันดับให้ประเทศหลายประเทศในกลุ่มประชาคม ให้อยู่ในลำดับที่ต่ำนั้นคงเป็นเพราะผู้จัดอันดับเห็นว่า กฎเกณฑ์ในเรื่องนี้ของประเทศเหล่านั้นยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงต้องมาคิดกันใหม่ว่า ควรจะทำอย่างไร ระบบเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น จึงจะเป็นระบบที่มีการแข่งขันในทางเศรษฐกิจได้อย่างเสรี และเป็นธรรมได้ดีขึ้นอีก