'สรรพากร' เล็งลดสิทธิภาษีคนรวย เพิ่มลดหย่อนคนชั้นกลาง

'สรรพากร' เล็งลดสิทธิภาษีคนรวย เพิ่มลดหย่อนคนชั้นกลาง

อธิบดีสรรพากร เผย เล็งเพิ่มรายการลดหย่อนภาษีชนชั้นกลางและลดรายการลดหย่อนภาษีให้คนรวย หลังพบคนรวย 20% แรกของประเทศได้รับประโยชน์สูงสุดจากค่าลดหย่อนภาษีถึง 2 ล้านบาท

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การพิจารณาปรับปรุงรายการลดหย่อนและค่ายกเว้นภาษีที่กรมฯอยู่ระหว่างการพิจารณานั้น จะให้น้ำหนักลดภาระภาษีแก่ชนชั้นกลางให้มากขึ้น จากปัจจุบันผู้มีรายได้สูงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวที่มากกว่า

เขากล่าวว่า ขณะนี้ กรมฯอยู่ระหว่างศึกษาปรับปรุงค่าลดหย่อนและยกเว้นทางภาษีทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมาก โดยรวมๆแล้วเงินลดหย่อนยกเว้นทั้งหมดทุกรายการรวมเป็นวงเงินสูงสุดที่ 2 ล้านบาท ซึ่งคนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากค่าหย่อนนั้น คือ คนรวย 20% แรกของประเทศ"

ดังนั้น การปรับปรุงของกรมสรรพากร นั้น จะพิจารณาว่าค่าลดหย่อนใดที่ยังจำเป็นและค่าลดหย่อนใดที่ไม่มีความจำเป็นแล้วก็อาจจะตัดออกไป หรือค่าลดหย่อนบางรายการอาจปรับวงเงินลดหย่อนให้น้อยลง

“การปรับลดหรือยกเลิก ค่าลดหย่อนบางรายการนั้น ซึ่งจะทำให้คนรวยได้รับค่าลดหย่อน น้อยลง ขณะที่จะไปเพิ่มค่าลดหย่อนให้คนชั้นกลาง เพื่อลดภาระภาษีให้กับคนชั้นกลางมากขึ้น”

ปัจจุบัน ค่าลดหย่อนทางภาษีบางรายการ เช่น เงินลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟที่กำหนดให้สามารถนำมาหักลดหย่อนทางภาษีได้ 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาทนั้น คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากค่าลดหย่อนรายการนี้คือ คนรวย เพราะมีเงินมากพอที่จะลงทุนในแอลทีเอฟเต็มวงเงินที่ 5 แสนบาท

ทั้งนี้ กรมฯกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษารูปแบบกองทุนลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีแทน LTF ที่กำลังจะสิทธิ์สุดลงในปลายปีนี้ ซึ่งข้อเสนอของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยที่ลดวงเงินลงทุนที่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีเหลือไม่เกิน 30% แต่ต้องไม่เกิน 2.5 แสนบาท/ปี และต้องลงทุนเป็นเวลา 7 ปีปฏิทิน

ปัจจุบันมีคนยื่นแบบภาษีราว 11 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้ มีคนเสียภาษีเพียง 4 ล้านคน ที่เหลือ 7 ล้านคน รายได้ยังไม่พ้นรายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ คนที่มีรายได้ไม่เกิน 26,583.33 บาทต่อเดือนคือคนไม่มีภาระภาษี

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน กรมสรรพากร กำหนดให้มีค่าลดหย่อนจำนวนมากกว่า 20 รายการ เช่น การให้ค่าลดหย่อนส่วนตัว คนละ 6 หมื่นบาท,ค่าลดหย่อนบุตรคนละ 3 หมื่นบาท,ค่าลดหย่อนพ่อแม้ คนละ 3 หมื่นบาท, ค่าลดหย่อนคนพิการ คนละ 6 หมื่นบาท, เบี้ยประกันชีวิต ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี,เงินลงทุนในแอลทีเอฟคนละ 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท, อาร์เอ็มเอฟคนละ 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท, ดอกเบี้ยจากเงินกู้บ้าน ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี เป็นต้น