'คลัง'ปลดล็อค...อุตฯนอกกลุ่มบีโอไอ เข้าถึงกลไกส่งเสริมลงทุนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

'คลัง'ปลดล็อค...อุตฯนอกกลุ่มบีโอไอ เข้าถึงกลไกส่งเสริมลงทุนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร ร่วมกับ กพอ.ปลดล็อคให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่อยู่ในขอบข่ายของบีโอไอ สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากการลงทุนด้าน ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ช่วยการผลิต

ชิต เหล่าวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวงานเสวนา Asean Robomation Forum หัวข้อ “วิเคราะห์โรดแมปขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์สำหรับทุกภาคธุรกิจ” โดยบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด กล่าวว่า มติที่ประชุม ครม.ปลดล็อคให้กับกิจการที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ อาทิ โรงงานปูนซีเมนต์ ธุรกิจรีเทล โรงงานผลิตรถยนต์ สามารถเข้าถึงกลไกส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ช่วยการผลิตผ่านช่องทางกรมสรรพากร โดยยื่นลดหย่อนภาษี 40%

ทั้งนี้ เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ กลุ่มอุตสาหกรรมคลัสเตอร์หุ่นยนต์ได้ผลักดันให้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของเงินลงทุน สำหรับกิจการที่นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการ โดยขยายให้ครอบคลุมประเภทกิจการที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมากนัก ซึ่งเดิมไม่อยู่ในขอบข่ายการให้การส่งเสริม ล่าสุดเมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมา มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ขยายการส่งเสริมการลงทุนไปยังกิจการอื่นๆ ที่ "ไม่" อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ โดยเสนอให้เข้ารับการส่งเสริมจากกระทรวงการคลังผ่านทาง กรมสรรพากร

ปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีมาใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติให้มากขึ้น แต่ก็ยังติดกฎระเบียบที่กำหนดการให้สิทธิประโยชน์ได้เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่สามารถแยกให้การส่งเสริมเป็นกิจกรรมได้ ทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น เครือซีพี, เอสซีจี, โฮมโปร, สหพัฒนพิบูลย์ ซึ่งจะลงทุนขนาดใหญ่จัด คลังสินค้าอัจฉริยะ หรือลงทุนระบบผลิตในโรงงานนำใช้หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติมาใช้งาน เพราะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง ไม่อยู่ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริม ดังนั้น จะส่งเรื่องการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์นี้ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาให้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้ลงทุนได้

ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมปูนซึ่งถือเป็นโลว์เทคจึงไม่เข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.บีโอไอ ทางโรงงานปูนอินทรีย์ ลงทุน 2-3 พันล้านบาทด้านไอโอทีให้มอนิเตอร์อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนหรือซ่อมบำรุงก่อนที่จะชำรุดแล้วต้องชัตดาวน์ระบบ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล ส่วนอุตฯ ประกอบรถยนต์ก็ไม่เข้าเกณฑ์ เพราะมีเทคโนโลยีและโนว์ฮาวอยู่แล้ว แต่ในการผลิตก็จำเป็นต้องพึ่งพาหุ่นยนต์อย่างมาก ธุรกิจค้าปลีกอย่างโฮมโปรซึ่งลงทุนระดับพันล้านทำระบบอัตโนมัติในคลังสินค้า ทั้งนี้ หากลงทุนด้านระบบอัตโนมัติ 100 บาทก็คูณ 2 แล้วนำ 200 บาทไปหักจากภาษีได้ ฉะนั้น หากเสียภาษี 20% ก็จะได้คืนมา 40 บาท แม้สิทธิประโยชน์จะไม่เท่ากับทางบีโอไอแต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไร อย่างน้อยมาตรการนี้ก็ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการได้เกือบ 50%

ส่วนสถานการณ์การลงทุนด้าน หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  พบว่า หลายประเทศในอาเซียนสนใจเข้ามาลงทุน ที่ชัดเจนคือ เกาหลีมีอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ เหล็กกล้า เครื่องสำอางแลระบบอัตโนมัติ ซึ่งสนใจจะมาลงทุนตั้งศูนย์หุ่นยนต์ในอีอีซีเพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มาลงทุนในไทย ส่วนเทมาเส็ก บริษัทแห่งชาติของสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในหลายกิจการทั้งธุรกิจด้านดิจิทัล ฟินเทคและระบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ก็ยังมีเทียซังจากจีนสนใจทำเมืองหุ่นยนต์ 1,200 ไร่ที่เป็นแพลตฟอร์ม 4.0 (เอไอ บิ๊กดาต้า ไอโอที) ส่วนที่เข้ามาลงทุนแล้ว เช่น แองก้าจากออสเตรเลียทำหุ่นยนต์ที่ทำงานเสริมกับระบบซีเอ็นซี นาชิจากญี่ปุ่นจะทำหุ่นยนต์เพย์โหลด 15 กิโลกรัม

  คาดว่าภายใน 3 ปีนับจากนี้ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในไทยจะอยู่ที่ 4-5 แสนล้านบาท ขณะที่การซัพพลายน่าจะมีการลงทุนรวมทั้งสิ้น 2-3 หมื่นล้านบาท จากกลุ่มทุนต่างประเทศขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี และจากการเปิดเผยตัวเลขขอรับการลงทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นั้นมีการขอลงทุนทั้งสิ้นราว 6.78 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 50% หรือประมาณ 3.37 แสนล้านบาท มีเป้าหมายที่จะลงทุนเกี่ยวกับ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) ระบุว่าภายในปี 2562 ตลาด หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะขยายตัวถึง 19% ถือเป็นอัตราเติบโตอันดับหนึ่งของอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ของโลก