สหกรณ์สอนอาชีพดึงลูกหลานคืนถิ่น

สหกรณ์สอนอาชีพดึงลูกหลานคืนถิ่น

สอนอาชีพดึงลูกหลานคืนถิ่นมนัญญา สนับสนุนสหกรณ์ ดึงลูกหลานสมาชิก กลับถิ่น สานต่ออาชีพการเกษตร พร้อมพัฒนาการค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ในเวบไซต์ C0-OP shopเป็นช่องทางในการโปรโมทสินค้า

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดวันสถาปนากรม 47 ปีว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรและประชาชนทุกพื้นที่ ขอให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับกรมตรวจบัญชีสสหกรณ์ พัฒนาสหกรณ์ให้ได้มาตรฐาน จัดเกรดสหกรณ์ระดับ A B และ C และเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานของสหกรณ์ให้สูงขึ้น เพราะสหกรณ์เป็นองค์กรที่มีความสำคัญที่จะช่วยดูแลเกษตรกรให้มี ความเข้มแข็ง รวมทั้งเน้นให้สหกรณ์ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และกำลังประสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อหาช่องทางตลาดให้กับสหกรณ์ เพราะหากสามารถทำให้สหกรณ์มีรายได้เพิ่มจากการค้าขายและการทำธุรกิจ จะส่งผลที่ดีกลับไปยังเกษตรกรที่เป็นสมาชิกด้วย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายสนับสนุนให้สหกรณ์มีส่วนช่วยเหลือการสร้างอาชีพรายได้แก่เกษตรกรอย่างมั่นคง ช่วยให้คนรุ่นใหม่ที่รักอาชีพทำการเกษตรไม่ทิ้งถิ่นฐาน โดยการดึงลูกหลานสมาชิกสหกรณ์กลับสู่บ้านเกิด เนื่องจากขณะนี้ในจังหวัดต่างๆ มีแต่คนแก่เลี้ยงหลานจำนวนมาก เพราะพ่อแม่ต้องไปงานในเมืองใหญ่ จึงมีแนวคิดที่จะดึงคนเหล่านี้ ให้กลับบ้านมาดูแลและอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว ซึ่งกำลังคิดหาโครงการที่จะดำเนินการผ่านสหกรณ์ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ มาสานต่ออาชีพการเกษตรจากพ่อแม่ เน้นการทำเกษตรสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ ทำน้อยแต่ได้มาก และขอให้เน้นทำเกษตรอินทรีย์ลดการใช้สารเคมี ควบคู่กับการใช้หลักการตลาดนำผลิต เพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคง และได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ไปศึกษาแนวทางเพื่อดำเนินการในทันที

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่าโครงการส่งเสริมอาชีพให้ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์นั้น กรมฯจะประสานไปยังสหกรณ์ทุกพื้นที่ เพื่อเปิดรับสมัครผู้สนใจมาร่วมโครงการ ซึ่งเกษตรกรรุ่นพ่อรุ่นแม่ ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร จากนี้ไปต้องดึงรุ่นลูกซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมให้การสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้การประกอบอาชีพ

ทั้งนี้ มีตัวอย่างให้เห็นในหลายจังหวัด มีผู้ที่มาทำงาน ในกรุงเทพฯ แต่ยิ่งนานไปกลับมีแต่หนี้สินเพิ่มมากขึ้น จึงต้องการกลับไปอยู่บ้านเกิดและทำการเกษตร ทางสหกรณ์จึงได้แนะนำให้ปลูกผักอินทรีย์เพื่อจำหน่าย จนสามารถปลดหนี้สินได้หมด เชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่นั้น ถ้าตั้งใจทำเกษตรกรรมจริงจะทำได้สำเร็จ เพราะมีมุมมองเรื่องการตลาด สามารถขายผลผลิตผ่านออนไลน์ และเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน เมื่อเห็นโอกาสและช่องทางในการขายสินค้าแล้ว จึงจะมาวางแผนการผลิตได้ตรงตามที่ตลาดต้องการ

เกษตรกร

สำหรับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขณะนี้ได้พัฒนาการค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ในเวบไซต์ C0-OP shopเพื่อให้เป็นช่องทางในการโปรโมทสินค้าสหกรณ์ ให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการและเลือกซื้อสินค้าจากสหกรณ์ต่างๆได้ และกำลังเริ่มจะให้มีการบ่มเพาะความรู้ในการค้าผ่านช่องทางดังกล่าวรวมถึงการผลักดันให้เกิดตลาดเกษตรกรในสหกรณ์ตามพื้นที่ต่างๆ รวมถึงจัดตั้งซุปเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ๆ โดยจะเป็นแหล่งจำหน่ายพืชผักผลไม้ สินค้าและผลผลิตต่าง ๆ จากสหกรณ์ทั่วประเทศมารวมไว้ให้ผู้บริโภคได้ไปเลือกซื้อได้อย่างสะดวก เพื่อเพิ่มช่องทางตลาดจำหน่ายผลผลิตและสินค้าของสมาชิกสหกรณ์

ทั้งนี้ธุรกิจสหกรณ์การเกษตร/กลุ่มเกษตร ปี62 สหกรณ์8,097แห่ง เป็นสหกรณ์ภาคเกษตร4,547แห่ง นอกภาคเกษตร3,550 แห่ง สมาชิก11.6ล้านคน สมาชิกภาคการเกษตร6.7 ล้าน นอกภาคเกษตร4.9ล้านคนทุนดำเนินการ3.1 ล้านล้านบาท ปริมาณธุรกิจ2.5ล้านล้านบาท

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-เกษตร 4.0 ทางเลือก-ทางรอดของเกษตรกรไทย

-กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมความพร้อมสร้างทหารเป็นเกษตรรุ่นใหม่

-“ออริจิไร้ซ์” ชาวนาไทย ไม่เว้าวอนตลาด

-ชาวสวนลับแลร่วมสืบสานประเพณีสลากภัตทุเรียน