“ออริจิไร้ซ์” ชาวนาไทย ไม่เว้าวอนตลาด

“ออริจิไร้ซ์” ชาวนาไทย ไม่เว้าวอนตลาด

ผู้จัดการโรงงานเงินเดือน 6 หมื่น เกิดศรัทธาทฤษฎีเกษตรผสมผสาน ลาออกท่ามกลางเสียงคัดค้านจากครอบครัวชาวนา เพื่อพิสูจน์ว่าอาชีพชาวนามีเกียรติภูมิเลี้ยงดูครอบครัว แค่ปีแรกลงมือปลูกมีคิวจองข้าว 30 คน ราคาตันละ 8 หมื่น ปี3 จึงทุ่มแปรรูปข้าว ปูทางส่งออก

ชายหนุ่มผู้นึกน้อยใจในความเป็นครอบครัวชาวนา ที่ถูกสังคมดูแคลนไม่ยอมรับแม้กระทั่งชาวนาด้วยกันเองยังส่งเสริมให้ลูกหลานไปทำอาชีพอื่นหลุดจากวังวนปลูกข้าวขาดทุน 

ปรีดาธพันธุ์ จันทร์เรือง อดีตผู้จัดการโรงงานเงินเดือน 60,000 บาท ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของแบรนด์ข้าวอินทรีย์ ออริจิไร้ซ์” (Origi Rice) ก็เป็นหนึ่งในลูกหลานชาวนาที่พ่อแม่ไม่อยากให้ทำนา ส่งเสียให้ไปศึกษาเล่าเรียนตามค่านิยมสังคมที่หวังว่าวิชาความรู้จะหนุนนำให้ลูกได้เป็นเจ้าคนนายคน ไม่ต้องมาอยู่ในวังวนชาวนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน

ทว่าการทำงานมากกว่า 19 ปี กับตำแหน่งวิศวกรจนไต่เต้าไปเป็นระดับผู้จัดการ ทำให้เขาเรียนรู้ว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ทางของเขา

จุดเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้จัดการโรงงานหวนคืนถิ่น เกิดขึ้นเมื่อครั้งไปเรียนปริญญาโทด้านการบริหารจัดการนวัตกรรม เกือบ 10 ปีก่อน การดูงานด้านนวัตกรรมพาเขาไปพบโลกอีกใบ จากโครงการในที่ดินส่วนพระองค์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ศูนย์รักภูมิธรรมชาติ จ.นครนายก เรื่องราวความรู้การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และอีกหลากหลายโครงการที่สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพ ดลใจให้ปรีดาพันธ์ อยากเดินตามรอยพระองค์ท่าน

ดูงานเพียง 2 ชั่วโมง แต่กลับมามีแต่เรื่องราวเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรผสมผสานอยู่เต็มหัวอยากกลับไปอยู่บ้านเกิด เพื่อลงมือพิสูจน์ในแปลงนาของพ่อแม่ ลูกชาวนาที่มีเลือดชาวนาอยู่เต็มเปี่ยม จึงกล้าตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารโรงงาน ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากครอบครัว แม้เขาจะโกหกที่บ้านว่าถูกไล่ออก แต่นั่นยิ่งทำให้ที่บ้านผิดหวังในตัวเขาไม่น้อย และกังวลกับการตัดสินใจครั้งนี้ว่าจะไปไม่รอด

ปรีดาธพันธุ์ มีความเชื่อว่าจะฟื้นอาชีพชาวนาให้เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ต้องรอความสงสารจากใคร ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างสมเกียรติภูมิ โดยการพิสูจน์ตัวเองว่า ทำนาก็รวยได้

เติบโตมากับท้องนาอยู่กับโคลนมาแต่เด็ก พ่อแม่ทำนาที่เห็นว่าอาชีพชาวนานับวันมีแต่ถดถอย แม้แต่ชาวนายังไม่ภูมิใจในอาชีพตัวเอง จึงส่งลูกหลานไปเรียนสูง เพื่อหวังเป็นเจ้าคนนายคน แต่สุดท้ายก็เป็นลูกจ้างบริษัท เขาเล่าถึงความจริงของมนุษย์เงินเดือนที่แม้เงินเดือนสูง รายจ่ายก็สูง ความสุขเกิดขึ้นเมื่อตอนได้ขับรถกลับบ้านเท่านั้น

เขาจึงฝันจะอยากใช้ชีวิตอยู่ติดบ้านตลอดเวลา โดยสร้างบ้านเป็นออฟฟิศ ที่อยากทำงานตอนไหนก็เริ่มได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องตอกบัตร

ด้วยความที่เรียนการบริหารธุรกิจ บวกกับนวัตกรรม จึงเป็นอีกแรงผลักในการวางแผนให้รอบครอบก่อนลงมือ ปีแรกของการทำนาปลูกข้าว เขาแบ่งที่ดินเขียงนาของแม่ 4 ไร่ มาปลูกข้าวอินทรีย์ พันธุ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่อสุขภาพ คือปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวสินเหล็ก ข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวหอมนิล พร้อมกันกับสร้างแบรนด์ออริจิไร้ซ์ สอดคล้องกันกับเทรนด์โลกที่ประชากรโลกหันมาบริโภคข้าวอินทรีย์มากขึ้น จึงมีตลาดรองรับแน่นอน

เขาใช้ การตลาดนำการผลิต เขียนแผนงานวิ่งหาตลาดก่อนเสมอ

ประจวบเหมาะกับกลุ่มปิ่นโตผูกปิ่นโต องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งหนึ่ง วางบทบาทเป็นแม่สื่อ จับคู่หาเจ้าสาว คนกินข้าว มาเจอกันกับเจ้าบ่าวคือเกษตรกรชาวนา มาเจอกัน เพื่อการันตีผลผลิตว่ามีตลาดรองรับ การจับคู่ให้เจ้าสาว มีข้าวกินทั้งปี ส่วนเจ้าบ่าว เป็นคนส่งข้าว โดยมีเงื่อนไข ซื้อขายแบบจ่ายเงินล่วงหน้าทั้งปี สัญญาซื้อข้าว 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2558-2560)ในราคากิโลกรัม(กก.)ละ 80 บาท หรือตันละ 80,000 บาท

เขาจึงมีเงินทุนมาพัฒนาปัจจัยการผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์ มูลค่า 2 แสนบาทตุนไว้ก่อน

ผลผลิตล็อตแรกจากการนำเมล็ดพันธุ์ 5 ก.ก. ที่เพื่อนให้มาหว่านแต่ปรากฎว่า ไม่เต็มพื้นที่ 4 ไร่ ได้จริงเพียง 2 ไร่ นาคร็อปแรก(พ.ค.-ส.ค.58) สีข้าวได้ปริมาณ 1พันกว่าตันส่งมอบในล็อตแรกเสร็จ ก็เริ่มลงคร็อป 2 ต่อทันที (ก.ย.-ธ.ค.58)ต่อทันที

จุดขายที่สำคัญที่ทำให้คนกินข้าวที่จองคิวแปลงนาข้าว อยู่ตรงที่ได้เห็นทุกกระบวนการเพาะปลูก และบางคนได้มีโอกาสลงมาปลูกเอง คุณค่าที่ทำให้คนกินข้าวได้อิ่มเอมทางใจไปด้วย 

เขามีกลยุทธ์การตลาด ที่คอยสื่อสารสีสันบนท้องนา ให้ผู้บริโภคและคนติดตามอื่น ได้รับรู้ทุกครั้งที่มีโอกาส นี่จึงเป็นสเน่ห์ของแปลงนาผืนนี้

ขายข้าวราคาสูงกว่าทั่วไป เพราะมีแบรนด์และให้ลูกค้ามีส่วนร่วมสื่อสารทางเฟซบุ๊ค และให้ร่วมรับรู้ในทุกกระบวนการ ผมรายงานทุกอย่าง ตั้งแต่มีหนอน มีแมลง มีแมงมุมที่แสดงให้เห็นถึงระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์" สร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดยอมรับ โดยที่ยังไม่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (organic)

อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญคือการไม่ง้องอนตลาด เพราะเขาเชื่อว่าหากทำของที่มีคุณค่า ไม่ต้องไปเร่ขายข้าวราคาถูกตามตลาดนัด

ผมเป็นชาวนาหยิ่ง ไม่ต้องเข้ามาช่วย ไม่ต้องสงสาร มีปัญญาขายข้าวได้ จะซื้อก็ซื้อ และไม่ซื้อก็มีคนอื่นมาซื้อ นี่คือหัวใจสำคัญที่ผู้บริโภคมักตื่นตัวของแบบมีจำนวนจำกัด (Limited Edition)

พอขึ้นปีที่ 2 ของการเป็นชาวนา(ปี 2559)ปรากฏว่าข้าวที่เขาปลูกไว้ไม่พอขาย จึงรวบรวมเครือข่ายเกษตรกรชาวนารุ่นใหม่ที่มีแนวคิดคล้ายกัน (Young Smart Farmer) ในจ. ชัยนาทจำนวน 8 ราย เพื่อรวมกลุ่มกันปลูกข้าวป้อนให้กับลูกค้า โดยมีลูกค้าใหม่จากบริษัทเงินทุน แอ็ดวานซ์ ทำโครงการธุรกิจเพื่อสังคม(CSR) รับซื้อข้าวจากจากแปลงนาภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ปี 2559-2561 ปีละ 3,000 ก.ก.ทำให้เขาต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก

ปีที่ 3 (ปี 2560) เมื่อคำสั่งซื้อในประเทศเริ่มนิ่ง พร้อมกับมีผลกำไร เขาจึงทุ่มเทเวลาส่วนหนึ่งไปเขียนโครงการงานวิจัยเพื่อขอทุนสารพัดที่ส่งเสริมเรื่องการพัฒนานวัตกรรมข้าวไทย อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)เพื่อนำเงินมาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูป โดยมีกองทุนสนับสนุนประมาณ 1 -2 ล้านบาท

ล่าสุด คลอดผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 รายการ คือ นมข้าวกล้องอัดเม็ดผสมโกโก้ และอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย ที่คิดค้นจากไข่ขาวของเป็ดที่เลี้ยงอยู่ในนามาผสมกับข้าว เตรียมเปิดตัวในปลายปี 2561 อยู่ระหว่างรับรองมาตรฐานและคุณค่าทางโภชนาการ

วันนี้เขามีรายได้เฉลี่ยปีละ 5 แสนบาทจากการขายข้าว ยังไม่รวมรายได้ที่กำลังจะเกิดจากผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ในอนาคตรายได้จะสูงกว่าเป็นผู้จัดการโรงงาน

ปรีดาธพันธุ์ เล่าว่า สิ่งที่เขาภาคภูมิใจจากการตัดสินใจลาออกจากงานในครั้งนี้ที่สุด คือการที่ครอบครัวเปลี่ยนความคิด จากเคยต่อต้านกลายเป็นยอมรับและช่วยหนุน พี่สาวช่วยแพ็คถุงข้าว แม่ช่วยคัดแยกไข่เป็ด กลายเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวที่คนในบ้านมีส่วนร่วมกู้ศักดิ์ศรี เกียรติภูมิชาวนาไทยได้สำเร็จ

สิ่งที่ได้เรียนรู้ในนาข้าว คือการพัฒนาต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ปีแรกเขาจ้างคนมาถอนหญ้า ปีถัดมาเอาเงินจ้างคนมาถอนหญ้าไปซื้อเป็ดมาเลี้ยงในนา โดยมีหญ้าในแปลงนาเป็นอาหารอย่างดี แถมมีไข่เป็ดเสริมรายได้วันละ 2 พันบาท

“มูลค่าของธุรกิจอยู่ที่ปัญญา เมื่อเราเรียนรู้ที่จะต่อยอดนวัตกรรมที่มีแบบไม่หยุดนิ่งแล้ว ต่อให้ทำไม่ได้หรือมีคนมาเลียนแบบเราก็พัฒนาต่อยอดตลาดไปได้หลากหลาย เพราะเรามีเป้าหมายตลาดชัดเจน ไม่ใช่ผลิตมาเพื่อขายให้ได้มากๆ”

ลูกชาวนาผู้กลับมาต่อยอดนาข้าวของพ่อทิ้งท้ายว่า วันนี้กล้าพูดได้เต็มปากว่าเขาเป็นชาวนาที่มีแบรนด์ข้าวของตัวเอง มีบริษัทของตัวเอง ที่มีลูกค้าระดับพรีเมี่ยมรอเข้ามาซื้อสินค้า