เอกชนเมินลงทุนรถไฟเวียดนาม

เอกชนเมินลงทุนรถไฟเวียดนาม

รถไฟถือเป็นระบบขนส่งมวลชนสำคัญที่ขนผู้โดยสารและสินค้าได้ครั้งละมากๆ แต่รถไฟในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศกลับล้าหลังการขนส่งประเภทอื่น เวียดนามก็เช่นเดียวกัน

ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า รัฐจะต้องมีบทบาทสำคัญในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรถไฟ เพื่อหนุนการพัฒนาและดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนให้มากขึ้น

เวียดนามจัดเวทีเสวนาระดมสมองเรื่องการพัฒนารถไฟเมื่อวันก่อน เหวียน ง็อก ด่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเผยว่า ต้นทุนการลงทุนสร้างรางรถไฟ 1 กิโลเมตรโดยปกติแล้วจะสูงกว่าการก่อสร้างถนน 3-4 เท่า นอกจากนี้ยังให้ผลตอบแทนช้าจึงยากที่จะเรียกร้องให้เอกชนลงทุนพัฒนารถไฟ

การลงทุนทำรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ-ใต้ ปรับปรุงให้รถไฟเวียดนามดีขึ้นมาได้ ช่วยเพิ่มศักยภาพระบบขนส่งในประเทศ อย่างไรก็ตาม ระบบรถไฟที่เก่าคร่ำคร่าล้าหลังมีอุปสรรคนานัปการ รถไฟส่วนใหญ่วิ่งบนรางขนาด 1 เมตร ซึ่งคิดเป็น 85% ของรางรถไฟเวียดนาม

รมช. กล่าวต่อว่า เวียดนามทั้งประเทศมี 297 สถานีแต่ส่วนใหญ่เป็นสถานีเล็กๆ ซอมซ่อ สะพาน 1,850 แห่ง ครึ่งหนึ่งเจียนพังจำเป็นต้องซ่อมแซมเร่งด่วน อุโมงค์อย่างน้อย 22 แห่งจาก 39 แห่งจำเป็นต้องปรับปรุงเช่นกัน ส่วนจุดตัดรางรถไฟทั่วประเทศเป็นทางลักผ่านมากกว่า 4,000 จุด เป็นจุดเกิดอุบัติเหตุทางรถไฟถึง 70%

จากมุมมองรัฐมนตรีมาถึง หวู่ อันห์ มินห์ ประธานบรรษัทรถไฟเวียดนาม กล่าวเสริมว่า การพัฒนารถไฟต้องใช้เงินทุนมหาศาล แต่เอาเข้าจริงการลงทุนในภาคส่วนนี้มีเพียงเล็กน้อย แค่ 2% จากงบประมาณของรัฐเท่านั้น งบประมาณในการบำรุงรักษาประจำปีที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ เพียงแค่ 30% จากที่ต้องการใช้จริงเท่านั้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยีล้าสมัยกับบริการคุณภาพต่ำ ยิ่งบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของรถไฟเวียดนาม

ด้านเลอ ถั่น วัน สมาชิกถาวร คณะกรรมาธิการงบประมาณและการเงิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า รถไฟสูญเสียบทบาทด้านเศรษฐกิจไปแล้ว เนื่องจากส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 30% เหลือเพียง 1%ทั้งหมดนี้เป็นภาพที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการพัฒนาถนนและการบิน

เมื่อถกกันถึงสาเหตุของปัญหา วันกล่าวว่า รัฐไม่มีวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ว่าด้วยการวางแผนด้านรถไฟ จึงสนใจลงทุนน้อย กล่าวอีกนัยหนึ่งอุตสาหกรรมรถไฟเองก็ยังต้องพึ่งพาการลงทุนจากรัฐ ไม่ปรับโครงสร้างตัวเองให้พร้อมรับมือกับการแข่งขันอันดุเดือดรุนแรงนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมภาคเอกชนถึงไม่สนใจเข้ามาลงทุนในกิจการรถไฟ

เลอ ถั่น กวน ผู้อำนวยการกรมพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงวางแผนและลงทุน กล่าวว่า รัฐเพิ่มการลงทุนในรถไฟจาก 4% ระหว่างปี 2554-2558 มาอยู่ที่ 11.9% ระหว่างปี 2559-2563 อย่างไรก็ตาม จำนวนนี้ก็ยังไม่เพียงพอกับที่ต้องการใช้จริงอยู่ดี

เนื่องจากการลงทุนอันจำกัดนี่เอง ยุทธศาสตร์การพัฒนารถไฟแห่งชาติภายในปี 2563 ตามวิสัยทัศน์ 2593 จึงพุ่งเป้าเฉพาะส่วนแบ่งตลาดของรถไฟเท่านั้น กำหนดให้ขนส่งผู้โดยสาร 1-2% และขนส่งสินค้า 1-3%

การประชุมครั้งนี้เหล่าผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า การที่รัฐลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลักถือเป็นสิ่งสำคัญ และต้องทำนโยบายดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเอกชน ภาคการขนส่งต้องมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยี เพื่อขยายเส้นทางรถไฟ สร้างสถานีใหม่ จัดระบบเดินรถตลอดทั้งเส้นทาง ปรับปรุงอาณัติสัญญาณและระบบโทรคมนาคม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติการ