วิกฤติราคาน้ำมัน พาหุ้นโรงกลั่นฟื้นครึ่งปีหลัง

วิกฤติราคาน้ำมัน  พาหุ้นโรงกลั่นฟื้นครึ่งปีหลัง

ตลอดระยะเวลา 3 วันที่ผ่านมาประเด็นราคาน้ำมันที่ทยานขึ้นต่อเนื่องกลายเป็นประเด็นที่นักลงทุนกังวลใจมากขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันรายใหญ่และยังเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มโอเปก อย่าง ซาอุดิอาราเบีย ถูกกบฎฮูตีโจมตีแหล่งโรงงานน้ำมันสำคัญ 2 แห่ง ซึ่งได้ออกมายอมรับ

ทั้งนี้กำลังผลิตที่หายไป 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 58 % ของปริมาณผลิตของซาอุฯ ที่ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคิดเป็น 5 % ของปริมาณการผลิตโลกอีกด้วย ปัจจุบันยังไม่มีกําหนดการกลับมาดําเนินการผลิตได้ในระดับปกติ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวเริ่มมีการคาดการณ์แล้วว่าหากกินระยะเวลานานจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

โดยมีโกลด์แมน แซคส์ ออกมาคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะหนุนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT)มีโอกาสพุ่งแตะ 75 เหรียญต่อบาร์เรล หากว่าการผลิตน้ำมันของซาอุฯ ลดลง 4 ล้านบาร์เรลต่อวันนานกว่า 3 เดือน

ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันดิบหลังจากเกิดเหตุการณ์ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 3 ตลาด โดยตลาดน้ำมันดิบ เวสต์เท็กซัส (WTI) 55.09 เหรียญต่อบาร์เรล ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 62.90 เหรียญต่อบาร์เรล ตลาดน้ำมันดิบเบรนท์ จาก 60.38 เหรียญต่อบาร์เรล ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 69.02 เหรียญต่อบาร์เรล และตลาดน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) จาก 59.13 เหรียญต่อบาร์เรล ขยับมาอยู่ที่ 64.02 เหรียญต่อบาร์เรล

นอกจากราคาน้ำมันในทุกตลาดจะปรับเพิ่มขึ้นแล้วล่าสุดค่าการกลั่น (GRM) ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามาด้วย โดยราคามาอยู่ที่ 9.48 เหรียญต่อบาร์เรล การปรับตัวขึ้นมาในรอบนี้ทำให้ค่าการกลั่นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้กลับมาโดดเด่นหลังจากครึ่งปีแรกค่าการกลั่นทำจุดต่ำสุดของปี

จากในช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 ค่ากลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 1.9 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่ไตรมาส 2 ลงมาทำจุดต่ำสุดที่ 3.05 เหรียญต่อบาร์เรล ส่งผลทำให้ค่าการกลั่นเฉลี่ยในไตรมาสดังกล่าวอยู่ที่ 2.70 เหรียญต่อบาร์เรล หากสถานการณืยังไม่คลี่คลายมีการคาดการณ์ว่าไตรมาส 3 ปี 2562 ค่าการกลั่นขยับขึ้นมาค่าเฉลี่ยที่ 5 เหรียญต่อบาร์เรลได้

โดยเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มโรงกลั่นฟื้นตัวในครึ่งปีหลังจากปลายปี 2561 จนถึงในครึ่งปีแรก ปี 2562 หุ้นกลุ่มโรงกลั่นขาลงชัดเจน มาจากผลการดำเนินงานที่ลดลงสะท้อนค่าการกลั่นในตลาด ส่งผลทำให้กำไรในกลุ่มโรงกลั่นลดลง

ตามผลกำไรครึ่งปีแรกปี 2562 หุ้นโรงกลั่นจำนวน 6 บริษัท มีกำไรรวม 16,209 ล้านบาท ลดลง จากช่วงเดียวกันปีก่อน ถึง 68.39 % ที่มีกำไร 51,283 ล้านบาท ประกอบไปด้วย บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) กำไร 659 ล้านบาท ลดลง 90 % ,บมจ. พีทีจี โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กำไร 8,644 ล้านบาท ลดลง 62.76 % , บมจ. ไทยออยล์ (TOP) กำไร 4,975 ล้านบาท ลดลง 52.17 %

บมจ. สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) กำไร 1,090 ล้านบาท ลดลง 77.73 % , บมจ. เอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSO กำไร 99 ล้านบาท ลดลง 97.4 % และ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กำไร 742 ล้านบาท ลดลง 65.52 %

นาทีนี้มองได้ว่าถึงเวลาที่หุ้นโรงกลั่นน่าจะฟื้นไข้กำไรน่าจะพลิกกลับมาบวกได้แล้ว ซึ่งปัจจัยทีจะเข้ามาหนุนมีเรื่องนโยบายของ IMO ที่จะลดส่วนผสมของกำมะถันในน้ำมันเตาลงจาก 3.5% เหลือ 0.5% ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ส่งผลทำให้เกิดความต้องการน้ำมันดีขึ้น

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มโรงกลั่น “เท่ากับตลาด” มีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อหุ้นกลุ่มโรงกลั่นจากค่าการกลั่นในครึ่งปีหลังจะอยู่ 5-6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดีกว่ครึ่งปีแรก ที่เฉลี่ย 3.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยได้แรงสนับสนุนจาก ช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น และ IMO 2020

ด้านราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นมีการปรับตัวลงประมาณ -10% และ -25%ในช่วง 3 และ 6 เดือนที่ผ่านมาจากผลประกอบการใน 1H19 ที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาดและค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับต่ำจากความกังวลสงครามการค้า ราคาปัจจุบันเริ่มน่าสนใจ

ดังนั้นจึงแนะนำให้เริ่มสะสมหุ้นกลุ่มโรงกลั่น โดยคาดว่าราคาหุ้นจะเริ่มปรับขึ้นได้ในช่วง พ.ย.-ธ.ค. ที่จะเห็นผลบวกจาก IMO โดยเราเลือก TOP เป็นหุ้นที่โดดเด่นสุดในกลุ่มโรงกลั่น ให้ราคาเป้าหมายที่ 78.00 บาท