'แบงก์ดิจิทัล' สิงคโปร์ ‘ผู้บริโภค’ มีแต่ได้

'แบงก์ดิจิทัล' สิงคโปร์  ‘ผู้บริโภค’ มีแต่ได้

สิงคโปร์เตรียมเขย่าอุตสาหกรรมธนาคารเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยจะอนุญาตให้บรรดาบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารเข้ามาท้าทายธนาคารดั้งเดิมได้

อย่างไรก็ตาม เจดี เพาเวอร์ บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลการตลาด มองว่า กรณีเทคโนโลยีเปลี่ยนอุตสาหกรรม หรือ “ดิสรัปชั่น” นี้ อาจเป็นสถานการณ์ที่สมประโยชน์ถ้วนหน้า หรือ “วิน-วิน” สำหรับผู้บริโภค

ธนาคารกลางสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส) แถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะเปิดรับคำขออนุญาตประกอบกิจการธนาคารดิจิทัลใหม่อีก 5 ใบ ไปจนถึงสิ้นปีนี้

ย้อนไปเมื่อเดือน มิ.ย. เอ็มเอเอส ประกาศไว้ว่า การออกใบอนุญาตดำเนินการธนาคารเสมือนจริง จะเป็นส่วนหนึ่งของ “การเปิดเสรีอุตสาหกรรมธนาคารของสิงคโปร์”

ธนาคารกลางสิงคโปร์จะออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบมากถึง 2 ใบซึ่งจะทำให้บริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารรับฝากเงินจากลูกค้ารายย่อยได้ นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลธุรกิจรายใหญ่มากถึง 3 ใบสำหรับบริษัทที่ให้บริการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และเซกเมนท์ที่ไม่ใช่ค้าปลีกอื่น ๆ

ผู้ขอใบอนุญาตจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งรวมถึงการแสดงให้เห็นว่าสามารถจัดการธุรกิจธนาคารดิจิทัลที่ยั่งยืนและมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหรืออีคอมเมิร์ซมาแล้ว

เอ็มเอเอสระบุว่า ผู้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบจะต้อง “ยึดมั่นตลาดสิงคโปร์เป็นหลัก บริหารโดยชาวสิงคโปร์ และตั้งสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์” ขณะที่ธนาคารดิจิทัลธุรกิจรายใหญ่สามารถบริหารโดยชาวสิงคโปร์หรือบริษัทต่างชาติได้

“ในแง่ของทางเลือกที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้บริโภค ผมคิดว่าความเคลื่อนไหวนี้คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม” แอนโทนี เซียม หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการภูมิภาคสำหรับข้อมูลเชิงลึกธุรกิจระดับโลกของเจดี เพาเวอร์ เผยกับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีเมื่อไม่นานนี้

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมธนาคารของสิงคโปร์ถูกผูกขาดโดย 3 ธนาคารท้องถิ่นรายใหญ่ ได้แก่ “ดีบีเอส กรุ๊ป” “โอซีบีซี” และ “ยูโอบี” และยังมีธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาน้อยกว่าจำนวนหนึ่ง เป็นผู้เล่นสำคัญเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีในสิงคโปร์ นำไปสู่การถือกำเนิดของบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) หลายประเภทซึ่งให้บริการต่าง ๆ รวมถึงการชำระเงินดิจิทัล การโอนเงินออนไลน์ และบริการโอนเงินข้ามประเทศ

การตัดสินใจออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลของเอ็มเอเอส มีขึ้นหลังจากธนาคารกลางฮ่องกงออกใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารเสมือนจริงไปแล้ว 8 ใบในปีนี้ ในอุตสาหกรรมที่ถูกผูกขาดโดยธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง “เอชเอสบีซี” “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด” และธนาคารจีนอีกหลายราย

ความเคลื่อนไหวของทางการสิงคโปร์และฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้าง ซึ่งทำให้คนจำนวนมากขึ้นในเอเชียหันมาใช้บริการธุรกรรมออนไลน์ (ดิจิทัล แบงกิ้ง)

ข้อมูลล่าสุดจาก “ฟอร์เรสเตอร์บริษัทวิจัยและที่ปรึกษา พบว่า ผู้ใช้จำนวนมากทั่วภูมิภาคเชื่อว่าตนเองสามารถทำธุรกรรมทางการเงินทุกประเภทสำเร็จบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ

“การหันมาใช้ดิจิทัล แบงกิ้งในเอเชียแปซิฟิก มีแนวโน้มเติบโตเร็วขึ้นและแตะระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่” บรรดานักวิเคราะห์ของฟอร์เรสเตอร์ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว และว่า “ก่อนหน้านี้ ผู้บุกเบิกอย่าง วีแบงก์ และ กาเกา ได้ส่งสัญญาณล่วงหน้าถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แต่นี่เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น”

เซียม กล่าวว่า บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกซึ่งจะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารดิจิทัลในสิงคโปร์ในท้ายที่สุด จะต้องเผชิญกับการตรวจสอบตามมาตรฐานอันเข้มงวดของธนาคารกลางสิงคโปร์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น “ผมคิดว่านั่นเป็นเรื่อง วิน-วิน สำหรับลูกค้าในเวลานี้”

เอ็มเอเอส ระบุว่า ใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลในอนาคตอันใกล้นี้จะขยายไปถึงผู้เล่นที่ไม่ใช่ธนาคาร เพื่อทำให้อุตสาหกรรมธนาคารของสิงคโปร์มีความสามารถในการแข่งขันและสามารถรับมือความเปลี่ยนแปลง

หลังมีคำประกาศเบื้องต้นจากเอ็มเอเอสเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารจำนวนหนึ่ง รวมถึง “สิงเทล” บริษัทโทรคมนาคมของสิงคโปร์ และ “แกร็บ” ยักษ์ใหญ่บริการแชร์รถระดับภูมิภาค ต่างแสดงความสนใจที่จะขอใบอนุญาตดังกล่าว

แกร็บ ซึ่งมีธุรกิจการเงินขนาดใหญ่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครอบคลุมถึงบริการชำระเงินดิจิทัลและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอลเล็ท) แถลงว่า บริษัทกำลังศึกษากรอบการทำงานที่ธนาคารกลางสิงคโปร์เปิดเผยล่าสุดอย่างใกล้ชิด

“เราเชื่อว่าธนาคารดิจิทัลจะทำให้บริการธุรกรรมและการเงินเข้าถึงได้ง่ายและเพิ่มความสะดวกสำหรับผู้ใช้จำนวนมากขึ้นในสิงคโปร์” โฆษกแกร็บเผยกับซีเอ็นบีซีผ่านอีเมล และว่า “เราจะยื่นขอใบอนุญาตทันทีที่เราประเมินกรอบการทำงานแล้วเสร็จ”

ขณะเดียวกัน “เรเซอร์” ผู้ผลิตอุปกรณ์เล่นเกมชื่อดัง ซึ่งมีธุรกิจการชำระเงินดิจิทัลเช่นกัน เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่แสดงความสนใจที่จะขอใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารดิจิทัล

“เรเซอร์กำลังหาทางขอใบอนุญาตดำเนินการธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบผ่านบริษัทลูกด้านฟินเทคของเรา” จัสมิน อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเรเซอร์ ฟินเทค แถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และว่า “เราประกาศความสนใจเรื่องนี้ไปแล้วเมื่อเดือน มิ.ย. และมีหลายฝ่ายติดต่อเข้ามาเพื่อร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา”

กอนซาโล ลูเค็ตตี หัวหน้าฝ่ายธนาคารเพื่อรายย่อยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคยุโรปตะวันออกกลางและแอฟริกาจากธนาคารซิตี้ของสหรัฐซึ่งมีสำนักงานในสิงคโปร์ด้วย เผยกับซีเอ็นบีซีว่า ทุกวันนี้ บรรดาธนาคารให้ความสำคัญกับนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพต่าง ๆ ที่ธนาคารดิจิทัลจะนำเสนอต่อผู้บริโภค ความครอบคลุมทางการเงินของผู้เล่นเหล่านี้จะทำให้เกิดการแข่งขันดุเดือดขึ้นด้วย

“การแข่งขันจะสร้างแรงกระตุ้นสำหรับธนาคารในการลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น และให้บริการที่ดีกว่า” ลูเค็ตตีเสริม และบอกว่า การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการให้ความสำคัญกับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ของซิตี้ในขณะนี้ทำให้บริษัทอยู่ในสถานะที่ดีในการรับมือภาวะดิสรัปชั่นในอุตสาหกรรมบริการการเงิน