ยุทธศาสตร์ชาติ ทส. โจทย์ใหญ่รัฐบาลในมือ 'วราวุธ'

ยุทธศาสตร์ชาติ ทส. โจทย์ใหญ่รัฐบาลในมือ 'วราวุธ'

"วราวุธ ศิลปอาชา" ในวัย 46 ปี ต่างจากคนหนุ่มรุ่นใหม่ทั่วๆไป ไม่ใช่เพียงเพราะเขาเป็นลูกชายของนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 หากแต่ยังเป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่ได้รับความไว้วางใจให้กุมบังเหียนกระทรวงที่นับได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของงานด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้กระทั่งความมั่งคง เพราะเกี่ยวข้องกับฐานทรัพยากรของประเทศ นั่นคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) วราวุธเปิดเผยกับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า โดยความเป็นจริงแล้วพรรคชาติไทยพัฒนาทำงานด้านเกษตรมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ในวิถีทางการเมือง เขากล่าวว่า ไม่ใช่ว่าเรามีอะไรอย่างนี้ แล้วขอไปแบบนี้ แล้วจะได้แบบนี้ เมื่อนายกฯให้มาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม รมว.ทส. วราวุธจึงมองว่า เป็นความท้าทายใหม่ และเขาตั้งใจที่จะขับเคลื่อน ทส. ให้เป็นหนึ่งในหัวใจของการทำงานของรัฐบาลยุคนี้

รมว.ทส. วราวุธ อาจไม่ได้กล่าวเกินเลยไปนัก เพราะงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ถูกให้ความสำคัญมาตั้งแต่รัฐบาลทหารชุดที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานด้านทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน และน้ำ ที่ถูกขับเคลื่อนตั้งแต่หลังรัฐประหาร ผ่านแผนงานต่างๆ อาทิ แผนแม่บทฯ ป่าไม้ ที่นำไปสู่การตั้งชุดเฉพาะกิจปรบปรามการบุกรุกป่าโดยเฉพาะ ไปจนกระทั่งการถูกบรรจุเข้าเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของงานปฏิรูปและที่สำคัญคือในยุทธศาสตร์ชาติ ที่กลายมาเป็นนโยบายหลัก 1 ใน 12 ข้อของรัฐบาล ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า จะมีความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนต่อไป อย่างน้อยในระยะเวลา 5 ปีแรกของแผนปฏิรูปและแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ


ความท้าทายของรัฐมนตรีที่กุมบังเหียนกระทรวงนี้จึงอยู่ที่การผสมผสานนโยบายส่วนตัวและของพรรคเข้ากับกรอบนโยบายแห่งรัฐดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ที่ได้วางไว้

“เรื่องคะแนนเสียง มันก็คงมีได้บ้างเสียบ้าง (จากการทำงาน) อาจมีผิดใจ เสียคะแนนเสียงไป แต่ผมคิดว่าถ้าเราเก็บทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ลูกหลานของเราได้ ก็เสีย เพราะเราทำงานด้านนี้ ต้องเข้าใจว่าเราทำงานให้กับคนรุ่นต่อๆไป ไม่ใช่ว่าเหลือพะยูนให้เขาไปดูจากภาพถ่ายหรือรูปปั้น” รมว.ทส. วราวุธกล่าว

โดยรมว.ทส. วราวุธ กล่าวว่า นายกฯ ให้ความสำคัญกับประชาชน ดังนั้น การทำงานที่กระทรวงนี้ จึงตั้งเป้าไว้ด้วยว่าเราจะช่วยประชาชนแก้ปัญหา การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ เรื่องความขัดแย้งที่ดิน จึงไม่ใช่ว่า เอาคนออกเพื่อให้ได้ป่าคืน แล้วทิ้งประชาชนให้จมอยู่กับปัญหาไร้ที่ดินทำกิน แต่กระทรวงนี้จะช่วยดูแลจัดหาที่ดินใหม่ให้ รมว.ทส. วราวุธยกตัวอย่าง

จากประสบการณ์การใช้ชีวิตและร่ำเรียนในต่างประเทศเป็นเวลาสิบกว่าปี รมว.ทส. วราวุธ กล่าวว่าสิ่งเหล่านี้มีผลต่อจิตสำนึกและมุมมองต่องานด้านอนุรักษ์ของเขาไม่น้อย แต่เมื่อมาทำงานเป็นนักการเมือง จะต้องอยู่ตรงกลางให้ได้ ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่อนุรักษ์อย่างเดียวโดยไม่สนใจคน เพราะเมื่อไหร่ที่การอนุรักษ์ไปคุกคามชีวิตของคน พวกเขาเหล่านั้นจะเกิดการต่อต้านและไม่ร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรกับรัฐ

งานด้านอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อม รมว.ทส. วราวุธมองว่า ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของทุกคน และเครื่องมือในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดคือจิตสำนึกร่วมของประชาชน “ถ้าคนไทย 70 ล้านคนมีจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม หมด ผมว่า กระทรวงนี้ไม่จำเป็นต้องมีเลยด้วยซ้ำ”รมว.ทส. วราวุธกล่าว

แต่ในความเป็นจริงและสิ่งที่รมว.ทส. วราวุธคาดหวังนี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องผลักดัน และงานด้านสิ่งแวดล้อมยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไข รมว.ทส. วราวุธกล่าวว่ากระทรวงจึงยังต้องมีหน้าที่หาแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไป

โดยรมว.ทส. วราวุธ กล่าวว่าเขารับทราบโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลคือการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก ด้วยเหตุดังกล่าว จึงต้องมีการประมวลนโยบายที่เขามีกับสิ่งที่กำหนดเข้าไว้ด้วยกันให้ได้

รมว.ทส. วราวุธยอมรับว่าตอนแรกเขาเองก็ไม่เห็นด้วย เพราะถ้ากรอบนโยบายมีความแข็งกระด้างมากเกนไป ไม่มีความยืดหยุ่น มันจะไปต่อไม่ได้ด้วยปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการ อาทิ technology disruption


อย่างไรก็ดี ยุทธศาตร์ชาติเป็นเพียงกรอบกว้างๆที่วางเป้าหมายของประเทศเอาไว้ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะประเทศไทยไม่เคยมีการวางเป้าหมายของประเทศและยุทธศาสตร์เอาไว้เลย ซึ่งในขั้นตอนการปฏิบัติจะแบ่งออกเป็นระยะ ระยะละ 5 ปี ซึ่งทำให้ไม่ค่อยมีความแตกต่างจากการดำเนินงานที่ต้องทำตามแผนของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแต่อย่างใด

รมว.ทส. วราวุธกล่าวว่าเขาได้ให้ทางกระทรวงทำแผนตามกรอบที่ได้รับมาแล้วเอานโยบายของรัฐมนตรีผสมเข้าไป การตั้งงบประมาณและการอนุมัติงบประมาณจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะกำกับการดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบ รมว.ทส. วราวุธกล่าว

“เรามีกรอบ แต่เขาก็ไม่ได้บังคับว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ วิธีปฎิบัติก็ขึ้นอยู่กับกระทรวง มันเป็น framework ซึ่งผมก็ไม่ได้เห็นว่าเสียหายนะ เหมือนเราขับรถ จะไปไหนก็ต้องมีจุดหมายเหมือนกัน” รมว.ทส. วราวุธกล่าว

รมว.ทส. วราวุธกล่าวว่าโจทย์ที่ท้าทายของงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำหรับเขาคือทำอย่างไรให้คน ป่า และสัตว์ป่าอยู่ได้อย่างสันติสุข โดยเขามองว่าทั้งสามส่วนนี้สัมพันธ์กันและต้องแก้ไขให้ไปด้วยกัน

สิ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาคือต้องให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าวก่อน แล้วเอาแต่ละปัญหามาดูกัน ซึ่งเขาเชื่อว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่ทำให้ถูกใจซึ่งอาจจะเร็วกว่า

นอกจากนี้ รมว.ทส. วราวุธยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง และปัญหาขยะ ซึ่งในบางปัญหา รมว.ทส. วราวุธมองว่ามีความเชื่อมโยงกับบริบทโลกอย่างแยกไม่ได้ และเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของกระทรวงนี้ที่ต้องจัดการต่อไป

“สิ่งแวดล้อมมันไม่ได้ถูกแบ่งโดยเส้นเขตแดน เราะฉะนั้น มันจึงเป็น global issue ด้วยในหลายๆเรื่องที่ทำให้เราต้องตระหนักด้วย อย่างไฟป่าอเมซอนในเวลานี้ การปลูกป่าของเราอาจมีส่วนทดแทนออกซิเจนที่ขาดหายไปเป็นต้น งานด้านสิ่งแวดล้อมบางทีจึงไม่ใช่แค่วาระของกระทรวงหรือของชาติละ แต่เป็น global issues ด้วย ที่จะต้องมอง” รมว.ทส. วราวุธกล่าว

ภาพ: รมว.ทส.วราวุธขณะร่วมประชุมรับนโยบายการปฏิบัติราชการจากรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ/ ทส.