กยศ.ออกมาตรการลดเบี้ยปรับพักหนี้ผู้กู้

กยศ.ออกมาตรการลดเบี้ยปรับพักหนี้ผู้กู้

กยศ.ออกมาตรการแก้หนี้ผู้กู้ โดยลดเบี้ยปรับ 75-80% แก่ผู้กู้ที่ปิดบัญชี คาดผู้กู้เข้าร่วมโครงการกว่า 1 แสนราย พร้อมพักชำระหนี้ 1 ปีผู้ถือบัตรคนจนกว่า 3  แสนราย  และเพิ่มค่าครองชีพให้ผู้กู้ยืมอีกคนละ 600 บาทต่อเดือน

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)ได้เปิดเผยว่า กองทุนได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้ กยศ. และช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้ 1.ลดเบี้ยปรับในอัตรา 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้และปิดบัญชีในครั้งเดียว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2562 – 29 ก.พ.2563 2.ลดเบี้ยปรับในอัตรา 75% เฉพาะผู้กู้ยืมเงินกลุ่มก่อนฟ้องคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2562 – 29 ก.พ.2563 ทั้งนี้ สองกลุ่มนี้ เราคาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมโครงการราว 1 แสนราย

3.พักชำระหนี้ 1 ปี สำหรับผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฉพาะกลุ่มผู้กู้ยืมก่อนฟ้องคดี กรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายปี จะพักชำระหนี้ในงวดปี 2563 และผู้กู้ยืมจะต้องกลับมาชำระหนี้ ในวันที่ 5 ก.ค. 2564 ส่วนกรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน จะพักชำระหนี้ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนถัดไปที่กองทุนอนุมัติ โดยในระหว่างพักชำระหนี้กองทุนจะไม่ถือว่าผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้  ทั้งนี้ จากข้อมูลในระบบพบว่ามีผู้กู้ยืมเข้าข่ายที่จะได้สิทธิพักชำระหนี้ ประมาณ 3.35 แสนราย

4.ปรับลดอัตราเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระเงินกู้ยืมคืน จากอัตราปัจจุบันอยู่ที่ 12-18% ต่อปี) เหลืออัตรา 7.5% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินที่ค้างชำระให้สามารถผ่อนชำระเงินคืนกองทุนได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนงวดที่ผิดนัดชำระจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2562 ยังคิดอัตราเบี้ยปรับเท่าเดิม

5.ปรับเพิ่มค่าครองชีพรายเดือนให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษาอีกเดือนละ 600 บาท/คน โดยผู้กู้ยืมระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญปรับเพิ่มจาก 1.2 พันบาท เป็น 1.8 พันบาท ส่วนระดับ ปวช./ปวส./ปริญญาตรี ปรับเพิ่มจาก 2.4 พันบาท เป็น 3 พันบาท

ปัจจุบัน กองทุนมีผู้กู้ยืมที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจำนวนประมาณ 5.6 ล้านราย ประกอบด้วย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและปลอดหนี้ประมาณ 8 แสนราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ประมาณ 3.66 ล้านราย ผู้กู้ที่ชำระเสร็จสิ้นแล้วประมาณ 1 ล้านราย และ อื่นๆ 5.7 หมื่นราย เป็นเงินงบประมาณให้กู้ยืมจำนวนกว่า 6 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องคดีมีจำนวน 1.7 แสนคดี ในปีนี้ คาดว่า จะมีการปิดคดีการฟ้องร้อง 1 แสนคดี

เขายังกล่าวด้วยว่า ในปีนี้ กยศ.มีแผนที่จะดำเนินโครงการหักเงินเดือนผู้กู้จากหน่วยงานต้นสังกัดทั้งเป็นหน่วยงานของรัฐและเอกชนจำนวน 4 แสนราย ปีหน้าเพิ่มเป็น 7 แสนราย และ ปี 2564 จะอยู่ที่ 1 ล้านราย ปัจจุบันกยศ.ได้ร่วมมือกับต้นสังกัดในการหักเงินเดือนผู้กู้แล้วจำนวนกว่า 7 พันแห่ง ทั้งนี้ ในส่วนหน่วยงานสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกเป็นผู้กู้กับกยศ.นั้น ทางกยศ.ก็มีโครงการที่จะเข้าไปหักหนี้โดยตรงเช่นกัน

สำหรับผลการรับชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2562 กองทุนคาดว่าจะได้รับชำระหนี้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนขอยืนยันว่าในปีนี้ไม่มีการจำกัดโควต้าการให้กู้ยืมเงินสำหรับผู้กู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยทั้งหมดนี้กองทุนไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นผลมาจากการชำระหนี้ที่ดีขึ้นและมาตรการหักเงินเดือน