กยศ. ชี้แจงกรณีนักศึกษายื่นหนังสือขอให้ทบทวน 'พ.ร.บ. กยศ.'

 กยศ. ชี้แจงกรณีนักศึกษายื่นหนังสือขอให้ทบทวน 'พ.ร.บ. กยศ.'

กยศ. ชี้แจงกรณีนักศึกษายื่นหนังสือขอให้ทบทวน "พ.ร.บ. กยศ."

จากกรณีที่ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พรรคโดมปฏิวัติได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้แก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในประเด็นเพดานอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้ค้ำประกันนั้น

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า จากกรณีที่ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พรรคโดมปฏิวัติได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้แก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในประเด็นเพดานอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้ค้ำประกันนั้น  

กองทุนขอชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 มาตรา 45 ได้ระบุว่า คณะกรรมการจะกำหนดให้เริ่มคิดดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กู้ยืมเงินนับแต่เวลาใดภายหลังที่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้วก็ได้ แต่อัตราดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดที่คิด ณ วันทำสัญญา   ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งปัจจุบันกองทุนคิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้นคงค้างทั้งหมด อีกทั้งยังไม่มีแนวคิดที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว สำหรับกรณีกองทุนกำหนดให้มีผู้ค้ำประกัน ตามมาตรา 41 ได้ระบุว่า ในการทำสัญญากู้ยืมเงิน คณะกรรมการจะกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ด้วยก็ได้ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว กองทุนจึงมิได้กำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันที่เข้มงวดเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อนักเรียน นักศึกษาผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีความประสงค์ขอกู้ยืมเพื่อการศึกษา และเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้เป็นผู้ค้ำประกัน โดยไม่พิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้ค้ำประกัน ซึ่งหากดูสถิติผู้ค้ำประกันร้อยละ 99 เป็นบิดา มารดา และญาติพี่น้องของผู้กู้ยืม

ทั้งนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีฐานะเป็นนิติบุคคล เริ่มดำเนินการให้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ / ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก / ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน หรือสาขาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ / เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ โดยมุ่งเป็นกองทุนหมุนเวียนที่ให้โอกาสทางการศึกษาเพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด