รัฐบาลแพ้โหวตร่างข้อบังคับประชุมสภา

รัฐบาลแพ้โหวตร่างข้อบังคับประชุมสภา

เผยรัฐบาลแพ้โหวต 1 เสียง ข้อ 9 ร่างข้อบังคับประชุมสภา "ชวน" สั่งเลื่อนประชุมร่างข้อบังคับเป็นสัปดาห์หน้า

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานที่ประชุม ได้พิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาเสร็จแล้ว คือ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกมธ.ที่มีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.ฯได้นำเสนอรายงานของร่างข้อบังคับฯ ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 192 ข้อ และมีผู้เสนอคำแปรญัตติทั้งสิ้น 23 คน

สำหรับร่างข้อบังคับการประชุมที่ กมธ.ฯ เสนอมีรายละเอียดที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่จากข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่ผ่านมา และมีผู้ที่อภิปรายจำนวนมาก อาทิ กลุ่มว่าด้วยประธานสภาฯ หน้าที่และอำนาจ ในข้อ 6 ว่าด้วยการเลือกประธานสภาฯ ที่กำหนดให้ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ โดยไม่มีการอภิปราย

ทั้งนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขอแก้ไขถ้อยคำให้ส.ส.แสดงความเห็นหรือซักถาม และให้อภิปรายได้ ขณะที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ตัดส่วนที่ว่าด้วยการแสดงวิสัยทัศน์ออก อาทิ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม ,นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ถ้อยคำดังกล่าวเชื่อว่าจะไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่ยอมลงมติให้บุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานสภาฯ ซึ่งมาจากต่างพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งข้อบังคับที่ผ่านมาไม่เคยระบุไว้ ยกเว้นวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ทั้งนี้กมธ.ฯ ชี้แจงว่า เหตุที่ต้องบัญญัติขึ้นใหม่เพื่อให้ผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานสภาฯ ได้ทำความรู้จักกับส.ส. และเพื่อให้เกิดความสง่างาม อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเสียงข้างมากของที่ประชุม 240 เสียงเห็นด้วยกับกมธ.ฯ ที่ให้ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ โดยไม่มีการอภิปราย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ข้อ 9 หน้าที่และอำนาจของประธานสภาฯ ซึ่งกมธ.ฯเพิ่มถ้อยคำให้ประธานสภาฯ ต้องวางตนเป็นกลางปฏิบัติหน้าที่ โดยส.ส.หลายคนลุกแสดงความเห็น โดยยกตัวอย่างกรณีที่นายชวน ฐานประธานที่ประชุม เมื่อครั้งประชุมสภาฯ ครั้งแรกที่ห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราว หอประชุมใหญ่ทีโอที จำกัด (มหาชน) และมีปัญหาเรื่องการออกเสียงลงคะแนนผ่านบัตรลงคะแนน โดยนายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าตนขอเพิ่มข้อความให้ประธานสภา ต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดถือข้อบังคับอย่างเคร่งครัด

พร้อมยกตัวอย่างกรณีแจกบัตรออกเสียงสีแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยมากกว่าบัตรสีเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าเห็นด้วย ในการประชุมสภาฯ จนทำให้มีปัญหาเรื่องคะแนนผิดพลาด ซึ่งตนได้ทักท้วงแต่นายชวนไม่รับฟัง จึงขอเติมถ้อยคำดังกล่าว
ทั้งนี้นายชวน ชี้แจงโดยยอมรับว่า การลงคะแนนตามที่ทักท้วงนั้นมีการนับคะแนนผิดพลาดจริงเพียง 2-3 คะแนน แต่ไม่ใช่จากการแจกบัตรลงคะแนนสีใดมากกว่ากัน เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นอาชญากรรม และมีความผิดตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าการทำหน้าที่ของตนนั้นเป็นไปตามกฎหมาย และเป็นไปเพื่อรักษาสมบัติของสภาให้มากที่สุด อย่างกรณีที่มีการประชุมรัฐสภาอาเซียน มีผู้เสนอให้เช่ารถในส่วนของรัฐสภาไทย วันละ 1.8 หมื่นบาท ซึ่งตนบอกว่าขอสละสิทธิ์ดังกล่าว เพื่อรักษาสมบัติไว้ ทั้งนี้ตนเข้าใจข้อกังวลของสมาชิกนั้น อาจเกิดจากในอดีตมีเหตุการณ์ที่ประธานสภาผู้แทน ราษฎร ซึ่งเป็นคนของผู้อภิปรายเคยมีพฤติกรรมที่ทำให้สมาชิกกังวล แต่ตนยืนยันว่าไม่เป็นแบบนั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีส.ส.อภิปรายโดยติดใจในการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาฯ ที่พาดพิงนายชวน ต่อเนื่องถึงความอาวุโสและการปฏิบัติหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ประธานสภาฯ ได้ชี้แจงโดยย้ำว่า รัฐธรรมนูญตนไม่ได้รับ และไม่เห็นด้วย แต่ตนเป็นคนที่เคารพกฎหมาย และคิดว่าจะแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างไร รวมถึงคิดเสมอว่าต้องทำให้การเมืองดีขึ้น

“ผมไม่ใช่คนดีแต่ปาก ที่ผ่านมาได้รับเลือกตั้งมาโดยสุจริตไม่ซื้อเสียง หรือโกงเลือกตั้ง ซึ่งคนที่มีเบื้องหลังเข้ามาในสภาที่สุจริต ไม่ว่าอายุน้อยหรืออายุมาก ถือเป็นคนที่น่านับถือ ที่มีสมาชิกอภิปรายพาดพิงถึงศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่ยุติธรรมนั้น ผมมองว่าหากไม่มีศาลรัฐธรรมนูญบ้านเมืองจะเละเทะ มีแต่คนโกงบ้าน โกงเมือง ทั้งนี้ผมเข้าใจว่าหากคนโกงบ้านโกงเมืองมองว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าเชื่อถือ จะไม่น่าเชื่อถือ แต่หากอยู่ในวงคนสุจริตจะมองว่าตัดสินถูกต้อง ดังนั้นต้องยึดหลักที่ถูกต้อง โดยไม่บิดเบือนความจริง ที่ผ่านมามักมีทหารที่ไม่ดี มีพระในวัดที่ไม่ดี มีผู้แทนที่ไม่ดี แต่อย่าเหมารวม ทั้งนี้อย่าประเมินว่าคนที่มาแบบนี้ไม่น่า เชื่อถือ” นายชวน ชี้แจง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าข้อบังคับดังกล่าว มีส.ส. อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ทั้งที่สนับสนุนให้บัญญัติ เพื่อให้ประธานสภาฯต้องปฏิบัติและยึดถือโดยเคร่งครัด ขณะที่ฝ่ายที่ ไม่เห็นด้วยเพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 เขียนเป็นมาตรฐานการทำหน้าที่ ขณะที่กมธ.ฯนั้นพบการชี้แจงที่แตกต่างกันเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งที่เห็นว่าไม่ควรเขียนถ้อยคำว่า “ต้องเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่” และไม่ควรเขียนเพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติเป็นมาตรฐานการทำงาน

ทั้งนี้ที่ประชุมซึ่งเปิดให้อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยช่วงท้ายมีความวุ่นวาย หลัง น.ส.รังสิมา อภิปรายถึงเหตุการณ์ในอดีตที่พบการพกอาวุธเข้ามายังภายในห้องประชุม และพบสมาชิกเสียบบัตรแทนกันจนทำให้สภาฯ เกิดความเสียหาย

โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ชี้แจงฐานะเป็นบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็นส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ว่า หลักฐานที่น.ส.รังสิมา นำไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถือเป็นคลิปตัดต่อ ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าตนไม่มีความผิดและยังได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.จนนายชวนได้ตัดบทการโต้ตอบระหว่างน.ส.รังสิมา และ นายยุทธพงศ์ เพื่อให้ลงมติในข้อบังคับดังกล่าว

ผลการการลงคะแนน เสียงข้างมาก 205 เสียง ต่อ 204 เสียง เห็นด้วยกับที่กมธ.แก้ไขข้อบังคับ งดออกเสียง 2 เสียง จากนั้นได้ลงมติว่า จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขที่ว่าให้ประธานทำหน้าที่เป็นกลาง ผลลงมติเสียงข้างมาก 409 เสียงต่อ 2 เสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการออกเสียงรอบสอง พบการทักท้วงของ ส.ส. หลายคนต่อการออกเสียงลงคะแนนที่รายงานผลผิดพลาด เช่น ลงมติเห็นด้วย แต่การแสดงผลปรากฎว่าเป็นงดออกเสียง จึงเรียกร้องให้ตรวจสอบ รวมถึงเสียงโหวตข้อ 9 ร่างข้อบังคับประชุมฯ ที่พรรคฝั่งรัฐบาลแพ้ 1 เสียง ซึ่ง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส,ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ เสนอ

อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จสิ้นการลงมติ นายชวน ขอเลื่อนการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม และขอให้พิจารณาต่อในการประชุมสภาฯ สัปดาห์ต่อไปจากนั้นได้ปิดประชุม.