“Circular Economy” กู้โลก ปลดล็อกขยะล้นกรุง..!!

“Circular Economy” กู้โลก ปลดล็อกขยะล้นกรุง..!!

จากแนวคิด Circular Economy ปรัชญากู้โลก เอสซีจี ผู้นำโมเดลคำตอบการจัดสรรทรัพยากรหมุนเวียน ผนึกพันธมิตรด้วยบุคลากรและโมเดลธุรกิจ ปลดล็อกวิกฤติขยะล้นกรุง แปลงขยะเป็นวัสดุหมุนเวียน

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เกิดขึ้นอย่างจริงจังในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากภาคการผลิตเริ่มเห็นผลเสียของเศรษฐกิจแบบเส้นตรง ที่ผลิตใช้แล้วทรัพยากรแล้วหมดไป กำลังจะกลายเป็นภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตบนโลกที่มีประชากรกว่า 8,000 ล้านคนในปี พ.ศ.2566 จะดำรงชีวิตอยู่อย่างไรในทรัพยากรจำกัด

เมื่ออัตราการบริโภคเพิ่มขึ้น สวนทางกับทรัพยากร หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ในอีก 150 ปี จะไม่หลงเหลือทรัพยากรให้มนุษย์บนโลก !

นี่คือพันธกิจกู้โลก ทั้งภาคธุรกิจและสังคมก็ต้องร่วมมือหาทางออกให้กับโลก เริ่มต้นจากปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่ภาคการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิต ไม่ใช่มองแค่ใช้ทรัพยากรแล้วหมดไป แต่ใช้แล้วต้องนำมาสร้างใหม่ ใช้ใหม่ แบ่งปัน หมุนเวียน ไม่ปล่อยให้เป็นขยะ

ดังที่ บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (United Nation -UN) กล่าวไว้ว่า เราไม่มีแผนสำรอง เพราะเราไม่มีโลกใบที่สอง ความจริงที่ประชากรประชากรโลกต้องตื่นตัวลุกขึ้นมามีส่วนร่วมเปลี่ยนโลก

โดยหัวใจสำคัญของ “Circular Economy” อยู่ที่ระบบการผลิตหมุนเวียนที่นำวัสดุต่างๆ ที่ผลิตแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่า ไม่ปล่อยให้กลายเป็นของเหลือทิ้ง เปล่าประโยชน์ เพิ่มขยะ เพราะการผลิตเหล่านี้ต่างแลกมาด้วยการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งแต่แร่ธาตุ พลังงาน จึงไม่ควรปล่อยให้ทิ้งเป็นขยะ

มองขยะเป็นทรัพยากรนำมาผลิตใหม่ หมุนเวียนการใช้ใหม่ ช่วยลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เช่นเดียวกับปัญหาใหญ่ที่สั่งสมในเมืองหลวงของประเทศ กรุงเทพมหานคร เมืองที่มีประชากรอาศัยกว่า 10 ล้านคน ต่างคนต่างใช้ชีวิตบริโภคนิยม สิ่งที่บริโภคในทุกวันต่างเพิ่มขยะมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นดื่มกาแฟ น้ำอัดลม ชานมไข่มุก ใช้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ทำงานสำนักงาน ทำเอกสาร ตามเทรนด์แฟชั่นทุกซีซัน ทุกสิ่งที่ใช้ล้วนเป็นการถมกองขยะในเมืองกรุง ทั้งแพ็คเกจจิ้ง จากแก้วน้ำ บรรจุภัณฑ์ ถูกปล่อยบนกองขยะล้นออฟฟิศทำงานทุกวัน

สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง อดีตรองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านผังเมือง สิ่งแวดล้อมและการคลังระบุว่า นี่คือปัญหาใหญ่ของชาวกรุง ที่ต้องปลดล็อกปัญหา หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนในสังคมไทย จึงเริ่มพันธกิจลดปริมาณขยะพลาสติก และโฟม

โดย Circular Economy คือคำตอบของทางตัน ในเมื่อลดปริมาณทำได้ช้า ก็แปลงขยะนั้นมาเป็นมาเป็นทรัพยากร ฉะนั้นกรุงเทพมหานครจึงไม่ใช่แค่หน่วยงานเดียว ที่จัดการทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จ

วิกฤติขยะล้นกรุง ปัญหาใหญ่ที่ต้องแสวงหาพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน ผู้บริโภค !!

โดยภาครัฐต้องมีบทบาทออกกฎระเบียบกำกับดูแลการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องค้นหากระบวนการผลิตที่นำขยะมาเป็นวัตถุดิบสร้างผลิตภัณฑ์มาใช้หมุนเวียน รวมถึงมีตัวกลางคัดแยกขยะที่นำกลับมาผลิตใหม่ได้

ขณะที่ผู้บริโภคก็ควรตะหนักรู้ว่าพฤติกรรมการบริโภคนิยมโดยขาดการใส่ใจถึงปลายทางและต้นทางของขยะนั้นนำไปสู่ผลกระทบที่สังคม และสิ่งแวดล้อมในอนาคต ไม่หลงเหลือทรัพยากรไว้ส่งต่อให้คนยุคต่อไป

ในส่วนของภาคเอกชน เอสซีจี” ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรองค์กรขนาดใหญ่ที่มีองค์ความรู้และเป็นต้นแบบด้านความยั่งยืน และมีต้นแบบโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการจัดการขยะในองค์กร ที่สำคัญเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่นำเอาแนวคิดCircular Economy มาปรับใช้การบริหารธุรกิจ ขับเคลื่อนองค์กร และสังคม ให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

สัญญาณวิกฤติการจัดการขยะของประเทศมีแนวโน้มเป็นปัญหา คนไทยสร้างขยะกันอย่างน้อยวันละ 1 ก.ก.ต่อคน โดยกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 17.82 ล้านตันในปี 2560 เพิ่มขึ้น 1.64 % ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของสังคมเมือง การส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งในจำนวนนี้มีขยะถูกคัดแยกนำกลับไปใช้เพียง 9.58 ล้านตัน หรือ 34% ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง 10.88 ล้านตัน มีขยะไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง 7.36 ล้านตัน สัดส่วน 27%  ปริมาณขยะไม่ถูกกำจัดยังมีสัดส่วนที่สูง 

ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี ระบุว่า ได้นำปรัชญาCircular Economy มาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเอสซีจี (SCG Circular way) โดยวางกลยุทธ์จึงคิดตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นทาง พร้อมกันกับตั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้มีการลดทรัพยาการในกระบวนการผลิต โดยที่ยังตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ โดยมีการรวบรวมและจัดการของเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Waste Management) พร้อมกันกับพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อรักษาคุณค่าหลักของวัสดุ 

ยกตัวอย่าง เอสซีโอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด เข้ามาพัฒนาบริการจัดการของเสียอุตสาหกรรม เปลี่ยนของเสียจากโรงงาน และขยะชุมชนเป็นวัตถุดิบทดแทนเช่น หิน ดิน ทราย ทำให้ใปปี 2561 ที่ผ่านมานำของเสียอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นวัสดุทดแทน 313,000 ตันต่อปี นำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน 131,000 ตันต่อปี รวมไปถึงการคิดค้นนวัตกรรมของเสียมาผลิตกระดาษ บริษัท สยามคราฟท์ บริษัทในเครือและบริษัท ไทยเคนเปเปอร์ จำกัด (มหาชน) มีของเสีย 300 ตันที่นำมาหมุนเวียนผลิตกระดาษไม่ได้ เอสซีจีเปเปอร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จึงเป็นผู้รับกำจัดของเสียอุตสาหกรรม จึงนำเศษวัสดุมาผลิตไฟฟ้า รวมถึงเศษกระดาษที่ใช้แล้วนำมาผลิตกระดาษซ้ำ

เอสซีจียังได้ศึกษาและพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ (New Business Model) ต่อยอดจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าที่สุด

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับภาคีเครือข่าย กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรม สมาชิกองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ภาคเอกชนและมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายโดยใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ทั้งบุคลากร การบริหารจัดการ นำโมเดลธุรกิจมาบริหารจัดการ วางเป้าหมายร่วมมือลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่า 50%ภายในปี พ.ศ. 2570 รวมไปถึงการร่วมมือกับกทม.ในการช่วยจัดการขยะ

เอสซีจี ยังนำหัวข้อ ”Circular Economy” มาจัด SD Symposium ในวาระครบรอบ 10 ปี ในวันที่ 26 ส.ค. 2562 โดยสาระสำคัญ เน้นเรื่องการทำความเข้าใจกับแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับกลุ่มนักธุรกิจ โดยมี ตัวแทนจากUN มากล่าวเปิดงานสัมมนา พร้อมกันกับร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับ “Accelerating Economy Through Collaboration”