เอ็กซอนลุ้นถมทะเล2ปี

เอ็กซอนลุ้นถมทะเล2ปี

กนอ. ลุยศึกษาถมทะเล 6 เดือน จ่อทำอีเอชไอเอ 2 ปี เตรียมพื้นที่เอ็กซอนลงทุนโรงกลั่น-แครกเกอร์ 3 แสนล้าน เลือกพื้นที่เดิมแหลมฉบัง มั่นใจเอกชนเข้าใจไม่ไปประเทศอื่น สมคิดเผยบริษัทแม่จี้ถามความคืบหน้าต่อเนื่อง

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.อยู่ระหว่างความเป็นไปได้การเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันและโรงผลิตแครกเกอร์สำหรับผลิตปิโตรเคมี ของบริษัทเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น มูลค่าการลงทุน 3.3 แสนล้านบาท โดยโครงการนี้จะมีการถมทะเลบริเวณอ่าวอุดมใกล้กับโรงกลั่นน้ำมันเดิมของบริษัทเอสโซ่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ทั้งนี้ กนอ.จะต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับจากนี้ รวมทั้งศึกษาผลกระทบอื่นอย่างรอบด้าน รวมทั้งหากจะมีการลงทุนโครงการดังกล่าวจริงในประเทศไทยจะต้องใช้เวลาในการศึกษาผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2 ปี

“ภาคเอกชนเข้าใจขั้นตอนการดำเนินงานดี แม้การดำเนินการจะนาน แต่ กนอ.จะต้องดูให้รอบครอบมั่นใจว่าจะไม่กระทบกับการตัดสินใจลงทุนโครงการนี้ในไทย”นางสาวสมจิณณ์กล่าว

เร่งหาพื้นที่ลงทุนโรงกลั่น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้บริหารบริษัทเอ็กซอนโมบิลคอร์ปอเรชั่นได้เดินทางมา เพื่อติดตามความคืบหน้าการขยายพื้นที่ลงทุนโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันและโรงผลิตแครกเกอร์สำหรับผลิตปิโตรเคมีในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกครั้งหนึ่ง

เอ็กซอนลุ้นถมทะเล2ปี

“ผมได้สอบถามไปยังสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และ กนอ.ได้ยืนยันที่จะจัดหาที่ดินสำหรับตั้งโรงงานให้เสร็จภายใน 3-4 เดือนนี้ จากนั้นจะเริ่มดำเนินการศึกษาอีเอชไอเอควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการอำนวยความสะดวกไม่เช่นนั้นบริษัทอาจจะเลือกไปลงทุนที่ประเทศอื่นแทน”นายสมคิด กล่าว

รายงานข่าวจาก กนอ.ระบุว่า โครงการลงทุนโรงกลั่นน้ำมันและโรงผลิตแครกเกอร์แห่งใหม่ของเอ็กซอนโมบิลในไทยได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.2561 ระบุมูลค่าการลงทุน 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้มูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสหรัฐสูงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แซงหน้าญี่ปุ่น

จี้ความคืบหน้าต่อเนื่อง

รวมทั้งที่ผ่านมามีการติดต่อเข้ามาจากผู้บริหารระดับสูงของเอ็กซอนโมบิลมายังรัฐบาลระยะหนึ่งแล้ว โดยก่อนหน้านี้ในเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 นายเจเรมี โรเบิร์ต ออสเตอร์สต๊อก ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้เข้าพบนายสมคิด เพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเร่งรัดโครงการนี้รวมทั้งหาพื้นที่ลงทุนที่เหมาะสม

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2561 นาย แจ็ก พี.วิลเลี่ยมส์ รองประธานอาวุโส บริษัท เอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น ได้เข้าพบนายสมคิด เพื่อชี้แจงแผนที่จะเข้ามาขยายการลงทุนที่ไทย เพื่อผลิตวัตถุดิบที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก
ทั้งนี้ พื้นที่โรงกลั่นของเอ็กซอน โมบิล ที่ตั้งใน อ.ศรีราชา อยู่ติดกับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ไม่สามารถจัดหาพื้นที่ให้ได้แล้ว โดยพื้นที่ทั้งหมด 3.556 ไร่ ได้มีการใช้งานเต็มทั้งหมดทั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไปเขตประกอบการเสรีและพื้นที่สาธารณูปโภค

ยันต้องอยู่ใกล้โรงกลั่นเดิม

ในขณะที่โรงงานแห่งนี้จำเป็นต้องอยู่ใกล้กับโรงกลั่นเดิม เพราะเป็นการนำผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นเดิมมาต่อยอดการผลิตในโรงงานใหม่ และจะต้องใกล้ท่าเรือเพื่อสะดวกในการขนส่งวัตถุดิบ และการส่งออก จึงได้เสนอมาที่ กนอ.เพื่อขอถมทะเลบริเวณท่าเรือของโรงกลั่นเอซโซ่ 1,000 ไร่

นอกจากนี้ การพิจารณาของ กนอ.เห็นว่าโรงงานปิโตรเคมีแห่งใหม่ของเอ็กซอน โมบิล จะใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย แต่การดำเนินงานจำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบรวมทั้งการจัดการและป้องกันผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการถมทะเลที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม จึงต้องมีการศึกษาอีเอชไอเอเหมือนโครงการอื่นของ กนอ. เช่น การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3

หนุนเคมีภัณฑ์ครบวงจร

ทั้งนี้ เอ็กซอลโมบิล มีการลงทุนในไทยมานานผ่านบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ โดยเริ่มประกอบธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2437 และปัจจุบันดำเนินธุรกิจการกลั่นและค้าปลีกน้ำมัน รวมถึงเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรประกอบด้วย 1.โรงกลั่นน้ำมันและโรงงานอะโรเมติกส์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เริ่มดำเนินการโรงกลั่นมาตั้งแต่ปี 2510 โดยโรงกลั่นน้ำมันมีกำลังการผลิตสูงสุด 174,000 บาร์เรลต่อวัน

โรงงานอะโรเมติกส์มีกำลังการผลิตสารพาราไซลีน 500,000 ตันต่อปี จะผลิตอะโรเมติกส์ในรูปของพาราไซลีนเป็นหลัก ซึ่งพาราไซลีนจะถูกนำไปใช้ในการผลิตกรดเทเรฟทาลิก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตแผ่นฟิล์มโพลีเอสเตอร์ บรรจุภัณฑ์เรซิน และผ้าใยสังเคราะห์ เคมีภัณฑ์อื่นๆ ได้แก่ สารทำละลาย และสารพลาสติกไซเซอร์

รวมทั้งมีหน่วยผลิตสารทำละลาย ที่มีกำลังการผลิต 50,000 ตันต่อปี และมีถังเก็บน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวมกันกว่า 100 ถัง มีท่าเรือรับบรรทุกน้ำมันขนาด 120,000 ตัน และท่าเรือขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันและเคมีขนาด 8,000 ตัน 3 ท่า

2.เครือข่ายคลังน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ 580 แห่ง ทั่วประเทศ 3.ธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ภายใต้ชื่อการค้าโมบิล และสนับสนุนเครือข่ายศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องโมบิลวัน เซ็นเตอร์ 280 สาขา ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจน้ำมันครอบคลุมการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ค้าส่ง ตลอดจนลูกค้าในอุตสาหกรรมการบินและการเดินเรือ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมและผู้ค้าส่ง ประกอบด้วยก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ยางมะตอย และน้ำมันหล่อลื่น