เช็คสัญญาณความสัมพันธ์ "สหรัฐ-หัวเว่ย"

เช็คสัญญาณความสัมพันธ์ "สหรัฐ-หัวเว่ย"

เหล่าซีอีโอขอให้กระทรวงพาณิชย์ออกใบอนุญาตให้ในเวลาที่เหมาะสม

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน ลุ่มๆ ดอนๆ มานานนับปีจากสงครามการค้า ทั้งยังขยายวงไปถึงหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จากแดนมังกรที่ต้องโดนลูกหลงไปด้วย คล้ายกับว่า หากสองมหาอำนาจเศรษฐกิจตกลงกันไม่ได้ อนาคตของหัวเว่ยคงไม่มีวันราบรื่น

เมื่อวันจันทร์ (22 ก.ค.) ตามเวลาสหรัฐเหล่าประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ของสหรัฐ ทั้งซันดาร์ พิชัยจากกูเกิลชัค รอบบินส์ จากซิสโกโรเบิร์ต สวอน จากอินเทลสัญชัย เมห์โรทรา จากไมครอนสตีเฟน มิลลิแกน จากเวสเทิร์น ดิจิทัล คอร์ปอเรชันสตีเวน มอลเลนคอปฟ์จากควอลคอมม์ และฮ็อค ตัน จากบรอดคอม เข้าพบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ทำเนียบขาวแถลงว่าคณะซีอีโอสนับสนุนนโยบายประธานาธิบดีอย่างแข็งขันรวมทั้งระเบียบเพื่อความมั่นคงแห่งชาติที่ห้ามไม่ให้บริษัทโทรคมนาคมสหรัฐซื้อขายอุปกรณ์กับหัวเว่ย ที่ตอนหลังรัฐบาลวอชิงตันยอมผ่อนผันให้โดยเหล่าซีอีโอขอให้กระทรวงพาณิชย์ออกใบอนุญาตให้ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ค้าขายกับหัวเว่ยอีกครั้ง ซึ่งประธานาธิบดีเห็นชอบกับคำขอ

แต่กลุ่มซีอีโอก็ไม่ลืมทิ้งท้ายว่าพวกตนเชื่อมั่นในนวัตกรรมและการวางระบบ5จีของสหรัฐ

หัวเว่ยผู้นำด้านเทคโนโลยีไร้สาย 5จี ถูกกีดกันไม่ให้เข้าพัฒนาเครือข่ายในสหรัฐ โดยทรัมป์ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย ถ้าบริษัทสหรัฐจะซื้อขายด้วยจะต้องมีใบอนุญาต ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลวอชิงตันยังกดดันพันธมิตรตะวันตกไม่อนุญาตให้หัวเว่ยเข้าไปทำระบบ5 จีด้วย

ข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่าหัวเว่ยแอบช่วยเกาหลีเหนือทำระบบเครือข่ายไร้สายเชิงพาณิชย์อย่างลับๆ

รายงานข่าวอ้างเอกสารภายในที่ได้มาและแหล่งข่าววงใน ระบุหัวเว่ยเป็นหุ้นส่วนกับแพนด้าอินเตอร์เนชันแนล อินฟอร์เมชันเทคโนโลยี รัฐวิสาหกิจจีนเข้าไปทำหลายโครงการในเกาหลีเหนือไม่น้อยกว่า 8 ปีมาแล้วซึ่งการกระทำเช่นนั้นได้หัวเว่ยต้องใช้ส่วนประกอบเป็นสินค้าจากสหรัฐ ซึ่งอาจฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐทำต่อเกาหลีเหนือ

สถานการณ์หัวเว่ยตอนนี้จึงต้องเจอศึกหนักในตลาดตะวันตกบางประเทศ ที่เกรงว่ารัฐบาลปักกิ่งจะใช้หัวเว่ยเป็นเครื่องมือสอดแนมการสื่อสาร และเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ถ้าประเทศนั้นๆ อนุญาตให้หัวเว่ยพัฒนาเครือข่าย 5จีในประเทศตน หัวเว่ยจึงต้องปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด

ที่อังกฤษเจเรมี ไรท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล แถลงต่อสภาในวันจันทร์ว่า รัฐบาลลอนดอนยังรอความชัดเจนจากสหรัฐกรณีหัวเว่ย ตอนนี้จึงยังตอบไม่ได้ว่าหัวเว่ยเข้ามาทำเครือข่าย 5จีในอังกฤษได้หรือไม่

เรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวที่ทางการสหรัฐจับตาใกล้ชิด การตัดสินใจต้องเป็นหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปถัดจากเทเรซา เมย์ ที่จะพ้นตำแหน่งในวันนี้ (24 ก.ค.) ซึ่งอาจจะเป็นบอริส จอห์นสัน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน หรือเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องตัดสินใจว่าจะห้าม อนุญาตบางส่วน หรืออนุญาตให้หัวเว่ยเข้ามาทำเครือข่าย5จีได้ทั้งหมด

เมื่อสิ้นเดือน พ.ค. บริษัทอีอีเป็นผู้ให้บริการ 5จีรายแรกของอังกฤษ ส่วนเดือนนี้โวดาโฟนเพิ่งเปิดบริการโดยไม่มีสมาร์ทโฟนจากหัวเว่ย

ด้านหัวเว่ยแถลงวานนี้ (23 ก.ค.) ว่า จำต้องปลดพนักงานกว่า 600 คน ใน“ฟิวเจอร์เว่ย เทคโนโลยีส์” บริษัทลูกด้านวิจัยและพัฒนาในรัฐเท็กซัสของสหรัฐ เนื่องจากบริษัทต้องลดการดำเนินธุรกิจ ผลพวงจากถูกรัฐบาลวอชิงตันคว่ำบาตรทั้งหัวเว่ยและบริษัทลูกอีก 68 แห่ง

"การตัดสินใจแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พนักงานที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการชดเชย ทั้งเงินและสิทธิประโยชน์อื่นๆ แถลงการณ์บริษัทระบุ ทั้งนี้ ตามฐานข้อมูลของบลูมเบิร์กพบว่า ฟิวเจอร์เว่ยว่าจ้างพนักงานกว่า 750 คน การเลิกจ้างพนักงานในสหรัฐก็ไม่แน่ว่า จะเป็นมาตรการตอบโต้ที่หัวเว่ยกระทำกับรัฐบาลวอชิงตันหรือไม่