'ทีดีอาร์ไอ' ชง4แผน หนุนรัฐบาลใหม่ลุยอีอีซี

'ทีดีอาร์ไอ' ชง4แผน หนุนรัฐบาลใหม่ลุยอีอีซี

เสาวรัจ "ประเด็นสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมกับอีอีซี เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ"

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นเสาหลักของรัฐบาลที่ผ่านมาในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการขับเคลื่อนได้ออกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

เสาวรัจ รัตนคําฟู นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมาในโครงการอีอีซีมีหลายอย่างที่สำเร็จเป็นรูปธรรม เช่น การผลักดันโดยเฉพาะความพยายามในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้วิธีให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ (พีพีพี)

\'ทีดีอาร์ไอ\' ชง4แผน หนุนรัฐบาลใหม่ลุยอีอีซี

จาก 5 โครงการในแผนแม่บทอีอีซี สามารถประมูลและเตรียมลงนามกับเอกชน 2 โครงการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) และท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ส่วนโครงการสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง

อีอีซีประสบผลสำเร็จเรื่องการดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยในอีอีซี ปี 2558-2561 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติการลงทุนรวม 1.014 ล้านล้านบาท ขณะที่การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่ที่ 1.11 ล้านล้านบาท

การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นการลงทุนอุตสาหกรรมเดิมที่มีฐานอยู่ก่อน ได้แก่ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ สัดส่วน 20% รองลงมายานยนต์และชิ้นส่วน สัดส่วน 9% การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ สัดส่วน 8% และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สัดส่วน 7%

ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ยังมีไม่มาก เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการบิน โดยกรณีของอุตสาหกรรมการบิน ความสำเร็จช่วงแรกขึ้นอยู่กับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภาที่การบินไทยกำลังเจรจากับแอร์บัส

นอกจากนี้ อีอีซีกำหนดมาตรการดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะมาตรการ “สมาร์ทวีซ่า” และเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตรา 17% จากแรงงานทักษะสูงที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด จะช่วยแก้ปัญหาขาดแรงงานทักษะสูงในระยะสั้น
รวมทั้งมีการดึงดูดให้มหาวิทยาลัยระดับโลกเข้ามาตั้งในไทย โดยเฉพาะ CMKL University ที่เป็นสถาบันร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) มาเปิดสอนในไทย รวมถึงการร่วมมือกับญี่ปุ่นพัฒนาวิศวกรคุณภาพสูงในหลักสูตร “โคเซ็น” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นผลิตแรงงานทักษะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แม้จำนวนบัณฑิตที่ผลิตได้ช่วงแรกยังน้อยมาก

ทีดีอาร์ไอ ประเมินว่ามี 3 ด้าน ที่ยังไม่สำเร็จนัก คือ 1.การพัฒนากำลังคนคุณภาพสูงที่ทำงานได้จริงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอาชีวศึกษาและวิศวกร

2.การผลักดันให้สถาบันวิจัยของรัฐและมหาวิทยาลัยร่วมงานกับบริษัทที่ใช้อุตสาหกรรมระดับสูง ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศ

3.การสร้างส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในการกำหนดนโยบาย รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากที่ดินและการจัดทำผังเมือง ซึ่งจะทำให้ประโยชน์จากการพัฒนาไม่กระจุกตัวอยู่ในวงแคบ และไม่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และผลกระทบในด้านลบต่อประชาชนในพื้นที่
ทีดีอาร์ไอ มีข้อเสนอว่าในการขับเคลื่อนนโยบายในระยะต่อไปของรัฐบาลใหม่ 4 ด้าน คือ 1.ยกระดับการพัฒนากำลังคนคุณภาพสูงจากการร่วมมือกับภาคเอกชน และผลักดันให้สถาบันวิจัยของรัฐและมหาวิทยาลัยร่วมงานกับภาคเอกชน

2.เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส และปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับชุมชน เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน และทำให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
3.จัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในเขตพัฒนาพิเศษ เพื่อทำให้การวางแผน การกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง

4.ขยายผลบทเรียนการบริหารจัดการที่ดีในการปรับปรุงกฎระเบียบ และการบริหารจัดการในเชิงบูรณาการในอีอีซีไปใช้ในพื้นที่อื่นในลักษณะกระจายอำนาจ
“ประเด็นเรื่องสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมกับอีอีซี เป็นประเด็นที่ผู้กำหนดนโยบายและรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ โดยทำงานร่วมกับคนในพื้นที่และชุมชนอย่างจริงจังเพื่อให้อีอีซีเดินหน้า ไม่ถูกคัดค้าน”

สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมในอีอีซีมีคืบหน้าพอสมควร แต่ต้องติดตามว่าโครงการที่จะลงนามกับภาคเอกชนที่ล่าช้าจากเดิมพอสมควรจะกระทบต่อโครงการอีอีซีภาพรวมหรือไม่

“ผมอยากให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต้องคำนึงถึงการวางแผนใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีสอดคล้องกับรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง เช่น รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย) รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เพื่อให้การลงทุนคุ้มค่า ประหยัดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงและอะไหล่ร่วมกันได้ ดีกว่าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่มีหลายระบบ เพราะจะเกิดปัญหาการเชื่อมโยงระบบและวางแผนการซ่อมบำรุง”

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงของประเทศใด และกำหนดให้ชัดเจนเรื่องสัญญาที่ทำร่วมกับเอกชน โดยเทคโนโลยีแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันในรายละเอียดหากสามารถกำหนดได้แต่ต้นก็จะช่วยให้เกิดการประหยัดในการลงทุน การวางแผนซ่อมบำรุงและการพัฒนาบุคลากรก็จะสามารถทำได้ในทิศทางเดียวกัน