ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 8-12 ก.ค. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 1-5 ก.ค. 62

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 8-12 ก.ค. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 1-5 ก.ค. 62

ราคาน้ำมันดิบคาดปรับเพิ่ม เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับลด

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 55 – 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 62 - 67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (8 - 12 ก.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มปรับลดลง หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคร่วมมือที่จะขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไปอีก 9 เดือน ส่งผลให้ช่วงเวลาการปรับลดกำลังการผลิตจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค. 63 ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับตัวลดลง จากแนวโน้มการเพิ่มกำลังการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ และแนวโน้มการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มจะได้รับแรงกดดันจากการส่งออกน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาที่อาจปรับเพิ่มขึ้น หลังจีนและอินเดียยังนำเข้าน้ำมันจากเวเนซุเอลาอยู่ นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงซบเซา คาดส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกชะลอตัวลง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ปริมาณน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคตกลงในการประชุมโอเปคล่าสุด ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ก.ค. 62 ที่ผ่านมา ว่าจะขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเดิมจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 62 ไปสิ้นสุดในเดือนมี.ค. 63 โดยคาดว่าซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของกลุ่มโอเปค จะยังคงกำลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำที่ราว 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับตัวลดลง เนื่องจากกำลังการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ คาดยังคงอยู่ในระดับสูง จากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ โดยกำลังการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ล่าสุดทรงตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 92 นอกจากนี้จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 3 ก.ค. 62 ปรับลดลงสู่ระดับ 788 แท่น ส่งผลให้คาดว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงตาม
  • ปริมาณน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากคาดว่าเวเนซุเอลาจะสามารถส่งออกน้ำมันได้มากขึ้น หลังปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากเวเนซุเอลาในเดือนมิ.ย. 62 ปรับเพิ่มร้อยละ 26 จากเดือนพ.ค. 62 แตะระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งประเทศหลักที่นำเข้าน้ำมันจากเวเนซุเอลาเพิ่มประกอบด้วย จีนและอินเดีย
  • ความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยดัชนีภาคการผลิตของเยอรมนีปรับลดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ม.ค. 62 ประกอบกับดัชนีภาคการผลิตจีนปรับลดสู่ร้อยละ 49.4 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 62 นอกจากนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี แตะร้อยละ 939 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 59
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 – 5 ก.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.96 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 57.51 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.51 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 64.23 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 62 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับลด ประกอบกับปริมาณน้ำมันส่งออกจากเวเนซุเอลาในเดือน มิ.ย. 62 ปรับเพิ่มร้อยละ 26 จากเดือน พ.ค. 62 แตะระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน  อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากการตกลงในการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคต่อไปอีก 9 เดือน นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 28 มิ.ย. 62 ปรับลด 1.09 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 468.5 ล้านบาร์เรล