ศาลปค.สูงสุด ยืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับฟ้องคดีเบรคสรรหา ส.ว.

ศาลปค.สูงสุด ยืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับฟ้องคดีเบรคสรรหา ส.ว.

ศาลปกครองสูงสุด ชี้การตั้ง กก.สรรหา ส.ว. ใช้อำนาจตาม รธน.ไม่ใช่อำนาจคดีปกครอง ส่วนที่โต้แย้งศาลไม่เรียกคำสั่งตั้ง กก.สรรหา จาก คสช.มาตรวจ ศาลระบุ เมื่อคดีไม่อยู่ในอำนาจ เรียกส่งเอกสารไม่ได้

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.62 ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยนายฤทัย หงส์สิริ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวน และองค์คณะรวม 5 คน มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับฟ้องคดี คณะราษฎรไทยแห่งชาติ , เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ , องค์การสหพันธ์พิทักษ์อธิปไตยแห่งชาติ และบุคคลอีก 31 ราย ยื่นฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน แต่ไม่มีการเผยแพร่คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ดังกล่าว โดยภายหลังปรากฏข้อมูลจากการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์สื่อมวลชน และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ (iLaw) เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง ร่วมกันใช้อำนาจตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยมิชอบเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยแต่งตั้งบุคคลที่ไม่เป็นกลางและล้วนเป็นพรรคพวกของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง มาเป็นกรรมการสรรหาฯ ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนไทย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 269 (1) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 90 (1) โดยกฎหมายบัญญัติให้คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง แต่การแต่งตั้งนั้นเป็นการเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ได้เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระต่อไป ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้อื่น รวมถึงพรรคการเมืองอื่น และไม่ชอบด้วยครรลองประชาธิปไตย

ผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.และให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง แต่งตั้งผู้มีความเป็นกลางทางการเมืองเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ต่อไป รวมทั้งให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าพ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว.ฯ นั้นขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 58 หรือไม่

โดย "ศาลปกครองชั้นต้น" พิจารณาแล้ว เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน เนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติโดยล่าช้าเกินสมควร เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องทั้ง 34 ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องทั้งสองแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีความเป็นกลางมาเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. จึงเห็นได้ว่า เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องฟ้องเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา ส.ว.อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง ดังนั้นศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 197 วรรคหนึ่ง

ส่วนคำขอที่ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าการที่ศาลปกครองจะส่งบทกฎหมายใด ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ไม่ว่าจะศาลเห็นเองหรือคู่ความได้โต้แย้งนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับแก่คดีที่รับไว้พิจารณา แต่เมื่อคดีนี้ศาลปกครองไม่อาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องทั้ง 34 คนไว้พิจารณาแล้วจึงไม่มีกรณีที่ต้องนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่อ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายออกจากสารบบความ ต่อมาผู้ฟ้องทั้ง 34 คน ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว ต่อศาลปกครองสูงสุด

ขณะที่ "ศาลปกครองสูงสุด" พิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 197 วรรคหนึ่ง ที่ได้บัญญัติอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลปกครองในคดีปกครองและมาตรา 269 บัญญัติเรื่องการสรรกาและแต่งตั้ง ส.ว.250 คนให้ดำเนินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้แล้ว เมื่อพิจารณากับส่วนที่ผู้ฟ้องทั้ง 34 อ้างว่าการที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่ได้เรียกให้ "คสช." ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ส่งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ เพื่อนำมาพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองหรือไม่นั้น ขัดต่อระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 54 นั้น ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า ระเบียบฯ ดังกล่าว กำหนดว่าเมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่กรณีมีคำขอ ศาลมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้คู่กรณีหน่วยงานทางปกครอบ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานใดให้แก่ศาล

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าระเบียบฯ ข้อ 54 ดังกล่าว เป็นเพียงข้อกำหนดให้สิทธิแก่คู่กรณีที่จะยื่นคำขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งเรียกให้คู่กรณี หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจะส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานใดให้แก่ศาล แล้วเป็นอำนาจดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาต่อไปว่ากรณีมีเหตุจำเป็นที่ต้องมีคำสั่งตามคำขอของคู่กรณีนั้นหรือไม่ เมื่อคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วว่า การที่คสช. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 โดย พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไม่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครองแล้ว คดีพิพาทจึงไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุหรือความจำเป็นต้องเรียกให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ส่งสำเนาดังกล่าวมาให้ศาลเพื่อประกอบการพิจารณาการที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่ได้ให้ "คสช." ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ส่งสำเนาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการฯ ข้อ 54 ข้ออ้างของผู้ฟ้องทั้ง 34 ราย ไม่อาจรับฟังได้

ส่วนคำขอของผู้ฟ้อง 34 รายที่ให้ศาลปกครองสูงสุดเสนอความเห็น ถึงประธานศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดโดยเร่งด่วนที่สุดนั้น ก็เห็นว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ฯ ก็ได้ หรือเป็นมีกฎหมายหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดได้ ดังนั้นการจะให้มีการวินิจฉัยคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ฯหากไม่มีกฎหมายหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่กำหนดไว้ให้วินิจฉัยได้เป็นการเฉพาะ ย่อมเป็นอำนาจและดุลพินิจของประธานศาลปกครองสูงสุดที่จะเป็นผู้วินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรที่จะให้มีการวินิจฉัยนั้นโดยที่ประชุมใหญ่หรือไม่ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของศาลหรือสิทธิของคู่กรณีที่จะเสนอความเห็นถึงประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้ดำเนินการดังกล่าวได้ ที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับฟ้อง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาแล้วเนื่องจากมิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง กรณีจึงถือเป็นที่สุดเกี่ยวกับการวินิจฉัยอำนาจฟ้องกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ในส่วนของศาลปกครอง