ซิตี้บัสไฟฟ้าพันธุ์ไทย ย้อนรอยต้นแบบจีน-ไต้หวัน

ซิตี้บัสไฟฟ้าพันธุ์ไทย ย้อนรอยต้นแบบจีน-ไต้หวัน

ซิตี้บัสไฟฟ้าชานต่ำสัญชาติไทย ขนาด 10.5 และ 6.5 เมตร กำลังก่อร่างสร้างตัวโดยบริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า จำกัด (TEV) ที่สั่งนำเข้าบัสไฟฟ้าจากไต้หวันมาทำการศึกษาถอด-ประกอบตามแนวทาง Reverse Engineering แล้วออกแบบพิเศษให้เหมาะกับสภาพจราจรของไทย

ภายใน 2 ปีนี้ รถบัสไฟฟ้าชานต่ำชนิดโมโนคอคจากโรงประกอบใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ จะออกสู่ตลาด ผลผลิตจากบริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า จำกัด (TEV) หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเทคโนโลยีทั้งจากจีนและไต้หวัน โดยนำเข้ารถบัสไฟฟ้าจาก 2 ประเทศนี้มาทำวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) ให้เหมาะสมสำหรับสภาพการจราจรในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง 


“เบื้องต้นผมอยากเห็นการกำหนด ”กรีนโซน“ ในจุดที่การจราจรหนาแน่น เช่น สยามสแควร์ กำหนดให้เป็นเขตบริการของยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศ หรือโรงเรียนในเขตเมืองชั้นในกำหนดจุดรับส่งที่ห่างจากโรงเรียนแล้วจัดรถบัสไฟฟ้าไว้คอยบริการ ก็จะลดความหนาแน่นบริเวณหน้าโรงเรียนและพื้นที่โดยรอบได้” วรากร กติกาวงศ์ กรรมการบริหาร TEV กล่าว


TEV เพิ่งลงนามบันทึกข้อตกลงกับบริษัทไต้หวัน 2 ราย ที่จะสนับสนุนชิ้นส่วนประกอบหลักของยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องให้กับวิศวกรของทีอีวี เพื่อที่จะกลับมาทำการประกอบระบบต่างๆ ได้ภายในปีนี้ ขณะเดียวกันบริษัทสั่งนำเข้าซิตี้บัสไฟฟ้าชานต่ำ 2 คันจากไต้หวัน ขนาด 8 และ 10.5 เมตร ซึ่งจะจัดส่งถึงไทยปีหน้า เพื่อมาทำวิศวกรรมย้อนรอยโดยทีมวิศวกรที่ส่งไปเข้าคอร์สเทคโนโลยีของบริษัทคู่สัญญาในไต้หวัน จากนั้นวางแผนการผลิตขั้นต่ำ 100 คันต่อปี ซึ่งตัวหลักคือ 10.5 เมตร

“ก่อนหน้านี้ที่ได้ร่วมมือกับ ”โฟตอน“ ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน ซึ่งจะสนับสนุนชิ้นส่วนหลักในส่วนที่ไทยยังผลิตเองไม่ได้ ปรากฏว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีมูลค่าต่ำ ทางโฟตอนจึงไม่สามารถให้การสนับสนุนชิ้นส่วนหลัก ขณะที่ทางไต้หวันมาออกบูธแสดงสินค้าในไทย จึงมีโอกาสพูดคุยกระทั่งนำมาสู่ความร่วมมือดังกล่าว” 


อย่างไรก็ตาม จากความร่วมมือกับโฟตอนทำให้บริษัทมีรถบัสไฟฟ้า 3 คัน เป็นขนาดใหญ่ 12 เมตร (ปลั๊ก-อิน ไฮบริด) ส่วนขนาดกลาง 10.5 เมตร และขนาดเล็ก 6.5 เมตรเป็นระบบแบตเตอรี่ นำเข้าเป็นรถเพื่อการศึกษาตามเงื่อนไขยกเว้นภาษีของบีโอไอ เพื่อหาข้อดีและข้อเสียในการให้บริการด้านต่างๆ ต้นแบบทั้ง 3 คันนี้ใช้แบตเตอรี่ลิเธียม ใช้เวลาในการประจุไฟฟ้าเพียง 20 นาที สามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้าเต็ม 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือเป็นความเร็วที่เหมาะสมขับขี่ยานพาหนะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงล่างมีระบบปรับระดับความสูง โดยกรณีที่วิ่งไปพบน้ำท่วมก็ปรับยกขึ้นได้ประมาณ 1 ฟุต หรือปรับลงให้เท่าระดับทางเท้าในกรณีที่มีผู้พิการจะใช้บริการทำให้เข็นวีลแชร์ขึ้นรถได้


นอกจากความร่วมมือกับจีนและไต้หวันแล้ว ก่อนหน้านี้ TEV ได้รับสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้กระบวนการวิศวกรรมย้อนรอยรถบัสไฟฟ้าของโฟตอน เพื่อนำมาปรับปรุงการออกแบบโครงสร้างให้เหมาะสมกับสภาพจราจรในกรุงเทพฯ และสรีระของคนไทย ขณะเดียวกันก็ใช้ซอฟต์แวร์ Finite Element ช่วยวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้าง กระทั่งนำมาสู่การผลิตซิตี้บัสไฟฟ้าชานต่ำขนาด 10.5 เมตร เป็นโครงสร้างแบบ Monocoque (ไม่แชสซี) มีน้ำหนักเบาและแข็งแรง ระบบเบรกเอบีเอสทั้ง 4 ล้อ ซึ่งไม่มีในรถบัสทั่วไป สามารถลดน้ำหนักตัวโครงสร้างลงได้ 32% มีความแข็งแรงและสามารถรับน้ำหนักได้เทียบเท่ากับโครงสร้างเดิม ขณะเดียวกันโครงหลังคาเสริมความแข็งแรงพิเศษรองรับน้ำหนักแบตเตอรี่ประมาณ 3 ตัน ที่ติดตั้งด้านบน เพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำบนพื้นถนน

เขาคาดหวังให้ซิตี้บัสไฟฟ้า 6.5 เมตร 20 ที่นั่ง มาแทนรถตู้โดยสารประจำทาง รถโรงเรียน ส่วนรถ 10.5 เมตรที่เป็นตัวหลักนั้น สามารถออกแบบที่นั่งรวมที่ยืนได้ 80 คน ซึ่งสเปคเท่ากับรถ 12 เมตร จะมาแทนรถโดยสารประจำทาง อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของรถบัสไฟฟ้าคือ วิ่งระยะยาวไม่ได้ด้วยข้อจำกัดของแบตเตอรี่ อย่าง TEV วิ่งได้ระยะยาว 150 กิโลเมตรโดยติดตั้งตู้ชาร์จไว้ที่ต้นทางและปลายทาง ในอนาคตจำเป็นที่จะต้องได้ถึง 350 กิโลเมตร ซึ่งชาร์จที่ต้นทางจุดเดียว ทั้งนี้ ยานยนต์ไฟฟ้าแม้จะมีราคาสูง เฉลี่ยเมตรละ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนแบตเตอรี่ 40% อายุใช้งานประมาณ 10 ปี แต่ค่าบำรุงรักษาต่ำเพราะมีแค่มอเตอร์กับแบตเตอรี่ ไม่มีเกียร์ เครื่องยนต์และระบบหล่อลื่น


ทั้งนี้ วรากร มองว่า โอกาสของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยนั้นยังต้องขับเคลื่อนอีกมาก โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐต้องกำหนดมาตรการสนับสนุน ขณะที่ความต้องการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้ามีอยู่แล้ว เพียงแต่ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 เฟส เริ่มจากสนับสนุนการนำเข้าชิ้นส่วนหลักผ่านมาตรการทางภาษี ต่อมาเป็นเรื่องการวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอดชิ้นส่วนหลักที่ไทยยังทำไม่ได้ และเฟส 3 สนับสนุนให้เกิดการใช้จะทำให้เกิดการผลิตระดับแมส ต้นทุนก็จะถูกลง ผู้บริโภคก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้น