‘มิลเลนเนียล’ จ่อหลุดสถานะชนชั้นกลาง

‘มิลเลนเนียล’ จ่อหลุดสถานะชนชั้นกลาง

งานวิจัยล่าสุดชี้ คนยุคมิลเลนเนียล (เกิด 2523-2533) ส่อเค้าหลุดจากความเป็นชนชั้นกลางโลกมากขึ้นทุกที เนื่องจากมีรายได้ชะงักงันสวนทางค่าใช้จ่ายพุ่ง

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เผยผลวิจัยระบุว่า คนหนุ่มสาวกำลังดิ้นรนเป็นชนชั้นกลาง ส่วนคนที่เป็นชนชั้นกลางอยู่แล้วก็พบว่า ยากมากที่จะรักษาสถานะของตนไว้ได้ เนื่องจากการเติบโตของรายได้ถดถอย ผสมโรงกับค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยและการศึกษาเพิ่มสูง

ผลการสำรวจ พบว่า 60% ของคนรุ่นมิลเลนเนียล (เกิด 2523-2533) จาก 40 ประเทศถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง ตรงข้ามกับคนยุคเบบี้บูม (เกิด 2485-2507) ที่อยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง 68% 

เมื่อแยกเป็นรายประเทศพบว่า มิลเลนเนียลสหรัฐที่เป็นชนชั้นกลางมีเพียง 53% เท่านั้น ขณะที่อังกฤษ 59% ญี่ปุ่น 69% ออสเตรเลีย 66%

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มรายได้ปานกลางเพิ่มขึ้นแค่ 0.3% เท่านั้น และตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้ค่าใช้จ่ายเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่สุดของครัวเรือนชั้นกลาง คิดเป็นราว 1 ใน 3 ของรายได้หลังหักภาษีแล้ว หรือเพิ่มขึ้น 25% จากยุค 90

โออีซีดีนิยามว่า ชนชั้นกลางคือ คนที่มีรายได้ 75-200% ของรายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ ในบรรดา 40 ประเทศที่เก็บข้อมูล มีชนชั้นกลาง 61% และการที่สหรัฐมีชนชั้นกลาง 51% จึงล้าหลังกว่าสมาชิกโออีซีดีส่วนใหญ่ ขณะที่จีนมีชนชั้นกลาง 48%

นายอังเกล กูร์เรีย เลขาธิการโออีซีดีเผยว่า ชนชั้นกลางทุกวันนี้เหมือนเรือล่องอยู่กลางกระแสน้ำเชี่ยว รัฐบาลจะต้องรับฟังปัญหาของเขา และคุ้มครอง ส่งเสริมมาตรฐานการดำรงชีวิต ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตแบบยั่งยืนครอบคลุม สร้างตาข่ายสังคมที่มั่นคงและครอบคลุมมากขึ้น