ศาลยุติธรรม เผยสถิติปี 61 คดียาเสพติดเข้าสู่การพิจารณามากสุด

ศาลยุติธรรม เผยสถิติปี 61 คดียาเสพติดเข้าสู่การพิจารณามากสุด

"เลขาฯศาลยุติธรรม" แถลงผลงานทำคดีประจำปี 61 ทั่วประเทศคดีเข้ากว่า 1.8 ล้าน ทำเสร็จ 1.2 ล้าน ยาเสพติด-สินเชื่อ-คดีจราจร-บัตรเครดิต-กยศ.ติด 5 อันดับแรก ปี 63 ตั้งเป้าเป็นศาลดิจิทัล

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.62 ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมประจำปี พ.ศ.2561 โดยเปิดเผยสถิติคดี ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศว่า มีจำนวน 1,883,228 คดี ขณะที่คดีทั้งหมดที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ก็เป็นคดีแพ่ง 1,245,716 คดี คดีอาญา 637,512 คดี ซึ่งพิจารณาเสร็จไปแล้ว 1,660,252 คดี โดยจำนวนข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศสูงสุด 5 อันดับ (เฉพาะคดีที่รับใหม่ในปี 2561) อันดับที่ 1.พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ 344,849 ข้อหา , อันดับที่ 2 สินเชื่อบุคคล 258,008 ข้อหา , อันดับที่ 3 พ.ร.บ. จราจรทางบก 181,933 ข้อหา , อันดับที่ 4 บัตรเครดิต 169,897 ข้อหา , อันดับที่ 5 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 166,659 ข้อหา ส่วนชั้นอุทธรณ์คดีเข้าสู่อุทธรณ์จำนวน 60,191 คดี พิจารณาเสร็จ 54,049 คดี ขณะที่ชั้นศาลฎีกา มีคดีเข้าสู่การพิจารณาจำนวน 23,119 คดี พิจารณาเสร็จ 16,883 คดี รวมทั้ง 3 ชั้นศาลคดีในช่วงปีที่แล้วมีคดีเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น 1,966,538 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1,731,184 คดี คิดเป็น 88.03 % นอกจากนี้ ยังมีคดีเกี่ยวกับการดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งปีที่ผ่านมาสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 150 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์ 105,414,884,005.69 บาท

นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังกล่าวถึงโครงการส่งเสริมการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลมาใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราว (Electronic Monitoring) หรืออุปกรณ์ EM (กำไลข้อเท้า) ว่า ปัจจุบันมีศาลที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 164 ศาล และมีการติดตั้งอุปกรณ์ไปแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,521 ครั้ง โดยประเภทคดีหรือฐานความผิดที่มีการติดอุปกรณ์ EM มากที่สุด 6 อันดับ ได้แก่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 37% , ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 21% , พ.ร.บ.จราจรทางบก 16% พ.ร.บ.เช็ค 13% , ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย 8% , พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ 5% ในส่วนของการใช้อุปกรณ์ EM คุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีการสั่งใช้อุปกรณ์ EM ทั้งสิ้น จำนวน 13 ครั้ง ใน 5 ศาล

ขณะที่ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังกล่าวถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการบริหารจัดการคดีด้วยว่า เพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ตามนโยบายประธานศาลฎีกานั้น ศาลยุติธรรมจึงได้พัฒนาระบบงาน เช่น ระบบยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) , ระบบส่งเอกสารและประกาศนัดไต่สวน โดยวิธีการลงโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-notice) , ระบบบริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม (Case Information Online Service : CIOS), ระบบเชื่อมโยงข้อมูลหมายบังคับคดีกับกรมบังคับคดี , การเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์กับกรมคุมประพฤติ , ระบบการบันทึกการพิจารณาคดีโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Hearing Recording System) , ระบบถอดแถบเสียงคำเบิกความพยานจากระบบบันทึกการพิจารณาคดี (Transcribing System) , ระบบสืบพยานทางไกลผ่านจอภาพ (Teleconferencing System) , ระบบการนำเสนอพยานหลักฐานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic resentation System) , ระบบควบคุมห้องพิจารณาคดี (Electronic Control System) , ระบบสืบพยานทางจอภาพเพื่อลดการเผชิญหน้า (Reduce Confrontation System) , ระบบสืบค้นข้อมูลเขตอำนาจศาล , ระบบบูรณาการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม การปักหมุดตำแหน่งสถานที่ราชการ และการยกเลิกสำเนาบัตรประชาชนในการติดต่อราชการศาลยุติธรรม

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดตั้งศาลใหม่เพื่อกระจายความยุติธรรมและเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาคดีว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มีการจัดตั้งศาลใหม่ 2 ศาล คือศาลแขวงภูเก็ต และศาลแขวงระยอง ขณะที่ปี 2562 เตรียมจะเปิดทำการศาลใหม่ ได้แก่ ศาลแขวงบางบอน , ศาลแขวงเชียงราย ขณะที่ศาลจังหวัดมีนบุรี , ศาลจังหวัดพระโขนง และศาลจังหวัดตลิ่งชัน ก็จะแยกเป็นศาลแพ่งมีนบุรี-ศาลอาญามีนบุรี , ศาลแพ่งพระโขนง-ศาลอาญาพระโขนง , ศาลแพ่งตลิ่งชัน-ศาลอาญาตลิ่งชัน ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านกฎหมาย ยกฐานะศาลจังหวัดทั้ง 3 ศาลดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคดีให้สอดคล้องกับปริมาณคดีในแต่ละประเภทที่มีเป็นจำนวนมาก

ขณะที่การย้ายศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไปอยู่บริเวณสนามหลวง ก็จะเสร็จในช่วงเดือน ก.พ.นี้ พร้อมย้ายศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่อยู่บริเวณสนามหลวงเดิมมาอยู่ศูนย์ราชการ อาคารเอ แทนที่ตั้งศาลฎีกา และจะมีการเปิดที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใหม่ที่ จ.ปทุมธานี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ จ.นครปฐม ด้วย ในวันที่ 1 มิ.ย. นี้

สำนักงานศาลยุติธรรม ยังเล็งเห็นว่า เทคโนโลยี ข้อมูล การเรียนรู้ และทักษะด้านเทคโนโลยี และดิจิทัล รวมทั้งกลยุทธ์ด้านดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเปลี่ยนแปลงสำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานในสังกัดสู่ระบบดิจิทัลได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วและมีความยั่งยืน จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของสำนักงานศาลยุติธรรม โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นประธานคณะกรรมการฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลภายนอก ซึ่งมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็น D-Court (ศาลดิจิทัล) ในปี 2563 หรือ 2020 ซึ่งความเป็นรูปธรรมของศาลดิจิทัล เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลออกหมายจับให้เป็น Realtime การลดการใช้กระดาษด้วยการทำสำนวนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น