ดัน 'ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา' เฟส2 มูลค่าลงทุน 2.7 แสนล้าน

ดัน 'ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา' เฟส2 มูลค่าลงทุน 2.7 แสนล้าน

กองทัพเรือมั่นใจได้ผู้ลงทุนอู่ตะเภา มี.ค.2562 สร้างเสร็จปี 2566 ผู้โดยสารทะลุ 12 ล้านคน เล็งออกทีโออาร์สร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานเฟส 2 ปี 2562 พื้นที่ 300 ไร่ เผย 3-4 สายการบิน สนลงทุน

พร้อมเดินหน้าพัฒนาท่าเรือสัตหีบ รับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ผุดท่าเรือสำราญ ท่าเรือเฟอร์รี เตรียมขยายพื้นที่รอบสนามบิน 60 กม. เป็นมหานครการบินภาคตะวันออก

พล.ร.ต.เกริกไชย วจนาภรณ์ รองปลัดบัญชีทหารเรือ ในฐานะผู้ดำเนินโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาบนเนื้อที่ 6.5 พันไร่ มีเอกชนมาซื้อซองร่วมประมูล 42 ราย แบ่งเป็นเอกชนไทย 24 ราย และต่างชาติ 18 ราย 

โดยวันที่ 28 ก.พ. 2562 จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และจะได้ตัวผู้ลงทุนในโครงการนี้ภายในเดือนมี.ค. 2562 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 จะเปิดดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2567 โดยโครงการนี้ในปัจจุบันมีผู้โดยสารมาใช้งานประมาณปีละ 3 ล้านคน แต่ในช่วงปีแรกที่เปิดดำเนินการในปี 2567 จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 12 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 12 ล้านคนในปี 2566 จากนั้นภายใน ปี 2578 จะมีผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน

ก.พ.ออกทีโออาร์ศูนย์ซ่อมเฟส 2

สำหรับโครงการนี้มีมูลค่าลงทุน 2.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนภาครัฐ 17,768 ล้านบาท ส่วนเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนอีก 2 แสนล้านบาท จะลงทุนในส่วนของศูนย์การขนส่งภาคพื้น อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้า เขตประกอบการเสรี และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ภาคเอกชนลงทุน หรือศูนย์ซ่อมอากาศยานเฟส 2 ทั้งนี้ ในส่วนของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เฟส 2 คาดว่าในช่วงเดือน ก.พ. 2562 จะเห็นความชัดเจนในเรื่องของข้อเสนอคุณสมบัติของผู้ประมูล และการออกทีโออาร์ และได้ตัวนักลงทุนภายในปี 2562

“ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เฟส 2 จะเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งหมด โดยกองทัพเรือได้เตรียมพื้นที่ไว้ให้เช่าประมาณ 300 ไร่ คาดว่าจะรองรับภาคเอกชนได้ 3-4 ราย โดยภาครัฐจะมีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ตามเกณฑ์ของกรมธนารักษ์ บวกกับค่าตอบแทนอื่นๆ ที่เอกชนจะยื่นข้อเสนอมาประมูล ขณะนี้มีเอกชนหลายรายเข้ามาพูดคุย เช่น แอร์เอเชีย และบางกอกแอร์เวย์ เป็นต้น”

นอกจากนี้ กองทัพเรือยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือสัตหีบให้ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น โดยโครงการหลักๆ จะขุดร่องน้ำลึก เพิ่มจากปัจจุบันที่ลึก 8 เมตร เป็น 14 เมตร เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ได้ รวมทั้งการทำท่าเรือเฟอร์รี ที่สามารถขนได้ทั้งคน และรถยนต์ และท่าเรือครูซ หรือท่าเรือจอดเรือสำราญขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้า และท่องเที่ยวในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือสัตหีบ จะใช้งบประมาณ 2-3 พันล้านบาท ซึ่งจะมาจากงบประมาณของรัฐบาล และจากกองทุนหมุนเวียนที่กระทรวงการคลังดูแล โดยโครงการนี้ได้รับงบประมาณมาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2562 จะแล้วเสร็จในปี 2563 และจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2564

“ในขณะนี้ท่าเรือสัตหีบก็ได้รองรับเรือขนส่งสินค้ามานานแล้ว แต่ยังไม่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ ซึ่งท่าเรือนี้มีความพร้อมในการพัฒนาสูง เพราะมีทางรถไฟเชื่อมต่อถึงท่าเรือ รองรับการขนส่งสินค้าได้อีกมาก รวมทั้งยังมีความพร้อมสูงในการพัฒนาไปสู่ท่าเรือท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนให้กับ อีอีซี”

ต่อยอดมหานครการบิน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะต่อยอดขยายไปสู่มหานครการบินภาคตะวันออก โดยมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินให้เป็นเมืองการบิน เพื่อรองรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน และ10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล รวมทั้งการท่องเที่ยวใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น โดยแนวทางการขยายตัวจะแบ่งออกเป็น 2 แนว ได้แก่ 

แนวที่ 1 ขยายการท่องเที่ยวและเมืองทันสมัยน่าอยู่ ในเส้นทาง สนามบินอู่ตะเภา-สัตหีบ บางสะเหร่ จอมเทียน พัทยา ศรีราชา และเส้นทางสนามบินอู่ตะเภา บ้านฉาง มาบตาพุด ระยอง และเกาะเสม็ด แนวที่ 2 ขยายธุรกิจอุตสาหกรรมเป้าหมาย และบริการ ในเส้นทาง สนามบินอู่ตะเภา ตามถนน 331 ระยะทาง 60 กิโลเมตร ถึงศรีราชา บ้านบึง และเส้นทางสนามบิน-นิคมอุตสากรรมมาบตาพุด ถนน 3191 และถนน 36

โดยระยะเวลาการพัฒนาเมือง ภายใน 5 ปีแรก จะพัฒนาเมืองในเขต 10 กิโลเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภา ครอบคลุมพื้นที่สัตหีบ บ้านฉาง บางสะเหร่ และจอมเทียน ภายใน 5-10 ปี จะพัฒนาเมืองในเขต 30 กิโลเมตรโดยรอบสนามบินอู่ตะเภา ครอบคลุมพื้นที่เมืองพัทยา ถึงเมืองระยอง ซึ่งจะรวมเป็นเขตพัฒนาเดียวกัน และภายใน 10-15 ปี จะพัฒนาเมืองรอบสนามบินอู่ตะเภา 60 กิโลเมตร โดยคาดว่าผลจากการพัฒนาโครงการอีอีซี จะทำให้ประชากรในพื้นที่ 3 จังหวัด จะเพิ่มจากปัจจุบันที่ 3 ล้านคน ไปเป็น 6 ล้านคนภายใน 20 ปี ซึ่งจำนวนนี้ไม่รวมประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานโดยไม่มีสำมะโนครัวในพื้นที่ อีอีซี

ยึดโมเดลเกาหลี-สิงคโปร์

“หลังจากได้ตัวผู้ดำเนินโครงการสนามบินอู่ตะเภาแล้ว ในช่วงปลายปี 2562 จะประกาศทำมหานครการบินภาคตะวันออกอย่างจริงจัง เพราะหลังจากเกิดสนามบินอู่ตะเภาแล้วจะมีนักท่องเที่ยว และการลงทุนเข้ามาในพื้นที่ อีอีซี อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจะต้องสร้างเมืองใหม่ขึ้นมารองรับ ซึ่งจะเป็นสมาร์ทซิตี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้อยู่อาศัยทุกด้าน และความปลอดภัยสูง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและพักอาศัย

ทั้งนี้ รูปแบบการพัฒนาสนามบินไปสู่การเป็นมหานครการบินเป็นแนวทางการพัฒนาที่สำคัญของประเทศชั้นนำของโลก เช่น สนามบินอินชอน ของประเทศเกาหลีใต้ และสนามบินของสิงคโปร์ ก็ได้พัฒนาเมืองโดยรอบสนามบินรองรับอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และธุรกิจรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้การพัฒนาประเทศก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจในอนาคต ที่ตลาดและชิ้นส่วนต่างๆ กระจายทั่วโลก และสินค้าที่มีราคาสูงจะใช้การขนส่งการอากาศเป็นหลัก 

ในปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าทางอากาศสูงถึง 35% ของมูลค่าสินค้าทั้งโลก และสินค้าไฮเทคกว่า 82% จะขนส่งทางอากาศ รวมทั้งการเกิดธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และพฤติกรรมผู้บริโภคจะรอคอยสินค้าน้อยลงสินค้าต้องถึงมือลูกค้าภยใน 1-3 วัน ดังนั้นในอนาคตสนามบินจะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดอุตสาหกรรม และบริการต่างๆ เกิดขึ้นในเมืองการบิน