ต.ค.เปิดเว็บลงทะเบียนเซลล์ต้นกำเนิด

ต.ค.เปิดเว็บลงทะเบียนเซลล์ต้นกำเนิด

เครือข่ายนักวิจัยสร้างฐานข้อมูลกลางด้านสเต็มเซลล์ คู่ขนานกับการยกร่างกฎหมายกำกับการใช้ประโยชน์โดยกระทรวงสาธารณสุข รองรับเทคโนโลยีการรักษามาตรฐานใหม่ เผย ต.ค.นี้พร้อมเปิดเว็บไซต์รับลงทะเบียน

นายรัฐจักร รังสิวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ปัญหาในเชิงการวิจัยและพัฒนาด้านสเต็มเซลล์คือ แหล่งที่มาของสเต็มเซลล์ซึ่งต้องซื้อจากบริษัทเอกชนมาในราคาสูง ทำให้หลายคนพยายามมองหานักวิจัยไทยที่พัฒนาเซลล์ไลน์หรือเซลล์สายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อเป็นแหล่งผลิตภายในประเทศ โดยปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเพียง 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการสร้างเซลล์ไลน์โดยเฉพาะ

“ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานด้านสเต็มเซลล์ จึงรวมตัวกันพัฒนาระบบขึ้นทะเบียนเซลล์ต้นกำเนิดประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ทีเซลส์) จะเป็นระบบจัดเก็บข้อมูลส่วนกลาง รวบรวมนักวิจัยและงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์ของไทย”

ระบบขึ้นทะเบียนเซลล์ต้นกำเนิดประเทศไทย จะเป็นระบบเว็บไซต์ที่เปิดให้ลงทะเบียนนักวิจัยและสเต็มเซลล์ที่เป็นเซลล์ไลน์ที่พัฒนาขึ้น มีฐานข้อมูลโครงการวิจัยต่างๆ ในด้านสเต็มเซลล์ โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนต้นเดือน ต.ค.นี้ ก้าวต่อไปคือการสร้างเครือข่ายนักวิจัย ที่จะเอื้อให้เกิดโครงการความร่วมมือขนาดใหญ่ในอนาคต สร้างผลกระทบสูง มีโอกาสได้รับทุนมากขึ้น เกิดการแบ่งปันองค์ความรู้ เครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงเปิดให้ภาคเอกชนที่สนใจมาร่วมวิจัยอีกด้วย อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นการรวมตัวของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยและหน่วยวิจัยต่างๆ แต่ยังขาดหน่วยงานภาครัฐที่จะมาเป็นเจ้าภาพ เพื่อผลักดันระบบให้เป็นระดับชาติ ดังเช่นสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี ที่มีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนหลัก ในขณะที่ยุโรปนั้น เป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ

“การขาดเจ้าภาพหรือศูนย์แห่งชาติ กระทบทั้งในวงการวิจัยและพัฒนารวมถึงประชาชนด้วย ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ไปถึงผู้ใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอาจกลายเป็นช่องว่างให้เกิดการใช้สเต็มเซลล์เพื่อการรักษาที่ไม่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานก็เป็นได้ เช่น กรณีการฉีดสเต็มเซลล์รกแกะ ยังไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ว่าช่วยชะลอความเสื่อมของอวัยวะได้จริง ทั้งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่เซลล์ต้นกำเนิดที่ได้รับการปลูกถ่ายเกิดเป็นเนื้องอกและกลายเป็นมะเร็งหากเซลล์ยังแบ่งตัวอย่างควบคุมไม่ได้” นายรัฐจักร กล่าว