มีลูก 1 คน จนไป 10 ปี จริงหรือ?

มีลูก 1 คน จนไป 10 ปี จริงหรือ?

เพราพรรณ วัชรกาฬ CFP® นักวางแผนการเงิน บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต

หนึ่งในความกังวลของคู่แต่งงานใหม่หลายๆ คู่ ก็คือ ภาระค่าใช้จ่ายจากการมีลูก  กระทั่งอาจตัดสินใจกันว่าจะไม่มีลูก แต่ความเป็นจริงนั้น หากได้เตรียมการวางแผนการเงินที่ดี เราสามารถสร้างครอบครัวและมีลูกได้อย่างสบายใจค่ะ  ทีนี้ลองมาดูกันว่าการมีลูกหนึ่งคนจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

2_3

  1. ค่าใช้จ่ายในการตั้งครรภ์และคลอดบุตร

จะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน คุณพ่อ คุณแม่ควรเลือกโรงพยาบาลที่เหมาะสมตามความสะดวกและความสบายใจเป็นหลัก เพราะคุณแม่ต้องเดินทางไปพบคุณหมอทุก ๆเดือน และเพื่อให้สามารถวางแผนค่าใช้จ่ายการคลอดได้ ซึ่งหากคลอดเองค่าใช้จ่ายก็จะถูกกว่าการผ่าตัดคลอด เป็นต้น

  1. ค่าเลี้ยงดูลูกน้อย และค่าพี่เลี้ยง

ช่วงวัยเด็กต้องมีการฉีดวัคซีน รวมถึงเตรียมค่ารักษาพยาบาลยามที่ลูกน้อยเกิดเจ็บป่วย และหากคุณพ่อคุณแม่ทำงานประจำก็อาจมีความจำเป็นต้องจ้างพี่เลี้ยงด้วย

  1. ค่าเล่าเรียน

คุณพ่อคุณแม่ต้องวางแผนเลือกโรงเรียนสำหรับลูก หลักพิจารณาก็คือดูว่าค่าเทอม มีความเหมาะสมกับรายรับรายจ่ายของครอบครัวหรือไม่ จะเป็นโรงเรียนไทย หรือโรงเรียน 2 ภาษา หรือว่าเป็นโรงเรียนอินเตอร์ และหากเป็นโรงเรียนเอกชน ค่าเทอมจะเริ่มต้นที่ 1-2 หมื่นบาทต่อปี  แต่โรงเรียนอินเตอร์บางแห่งอาจสูงถึง 1 ล้านบาทต่อปี หรือถ้าส่งไปเรียนต่างประเทศค่าใช้จ่ายก็ย่อมสูงตามไปด้วยเช่นกัน

  1. ค่าเรียนพิเศษ / ค่าเรียนเสริมพัฒนาการ

การเรียนพิเศษเพื่อเสริมทางวิชาการหรือจะเป็นการเรียนเพื่อนเสริมสร้างทักษะด้านต่างๆ เช่น การกีฬา ดนตรี ค่าเรียนส่วนมากจะคิดเป็นรายชั่วโมง เริ่มต้นที่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน

 

  1. ค่าบำรุงโรงเรียน

คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเตรียมค่าบำรุงการศึกษาให้อีกด้วยในบางสถานศึกษา                    

              เมื่อตั้งเป้าค่าใช้จ่ายแต่ละเรื่องออกมาแล้ว ให้เอามารวมยอดดูว่าจำนวนเงินจะเป็นเท่าไร และนำอัตราเงินเฟ้อมาคิดเพิ่มเติม ต้องอย่าลืมว่ากว่าที่ลูกเราจะได้เข้าเรียนจริงๆ ค่าเทอมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน  จากนั้นให้ตรวจสอบว่าเรามีเวลาสำหรับเก็บเงินในแต่ละเรื่องกี่ปี และเอาจำนวนเงินกับเวลามาคำนวณต่อว่าแล้วเราจะต้องเก็บเดือนละ หรือปีละเท่าไร เพื่อได้ตามเป้าหมาย

ยกตัวอย่าง เช่น หากเราเพิ่งแต่งงาน และคาดว่าจะมีลูกในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการหาหมอฝากครรภ์ การคลอดบุตรแบบผ่าตัดคลอด ที่ปัจจุบันต้องใช้เงินประมาณ 150,000 บาท เมื่อนำมาคูณกับเงินเฟ้อที่อัตราปีละ 3%  ในอีก 2 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายจะกลายเป็น 159,135 บาท และหากเรานำเงินไปลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่ผลตอบแทนคาดหวังปีละประมาณ 3% เมื่อคำนวนแล้วเราจะต้องเก็บเงินเดือนละ 6,442 บาทเป็นเวลา 2 ปี ก็จะมีเงินจำนวน 159,135 บาทตามที่คาดหวังไว้ได้

อย่างไรก็ดี ในการเก็บเงินนั้น ต้องเลือกให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่จะใช้เงินด้วย เนื่องจากค่าใช้จ่ายเรื่องของลูกเป็นรายจ่ายที่แน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ การนำเงินไปลงทุนผ่านกองทุนรวมก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่ช่วยลดต้นทุนการเก็บออม เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าการเก็บเงินในรูปแบบของเงินฝากธรรมดา ทั้งเป็นการลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ด้วย แต่ก็ต้องเลือกกองทุนให้เหมาะสมกับระยะเวลาใช้เงิน เช่น  เงินที่ต้องใช้ระยะสั้น ไม่เกิน 3 ปี สามารถลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้หรือกองทุนผสม หากเงินที่จะใช้มีเวลา 7 ปีขึ้นไป สามารถไปลงทุนผ่านกองทุนหุ้นหรือกองทุนต่างประเทศได้เช่นกัน

                สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องเตรียมพร้อมก็คือ การทำประกันชีวิตของคุณพ่อคุณแม่ ให้มีทุนประกันมากพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องการเรียนและความเป็นอยู่ของลูกจนกว่าเขาจะเรียนจบ และอาจจะต้องมองถึงประกันสุขภาพของลูกด้วย เพราะหากเกิดเหตุต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อม เราอาจจะต้องดึงเงินที่ได้เตรียมไว้สำหรับการศึกษาของลูกออกมาใช้ก่อน ซึ่งคงไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน

                การมีลูกหนึ่งคนย่อมมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมากมายนั้นเป็นความจริง แต่หากเรามีการเริ่มต้นวางแผนที่ดี ปฏิบัติตามแผนอย่างสม่ำเสมอ  และรู้หา รู้ใช้จ่าย รู้เก็บ รู้ขยายผลอย่างเหมาะสม การมีเจ้าตัวน้อยก็ช่วยเติมเต็มชีวิตครอบครัวให้สมบูรณ์แบบและมีความสุขได้เช่นกัน