TCAS ดูดเงินจากกระเป๋าผู้ปกครอง 2.5 หมื่นล้าน

TCAS ดูดเงินจากกระเป๋าผู้ปกครอง 2.5 หมื่นล้าน

มหาวิทยาลัยแบ่งรายได้!! ระบบ TCAS ดูดเงินจากกระเป๋าผู้ปกครอง 2.5 หมื่นล้าน กับคำถามตอบโจทย์ลดความเหลื่อมล้ำจริงๆหรือ?

การสอบเอนทรานซ์ระบบใหม่ หรือที่เรียกว่า TCAS ถูกวิจารณ์และตั้งคำถามมากมาย โดยเฉพาะประเด็นการกั๊กที่นั่ง และความเครียดกังวลของเด็กและผู้ปกครอง เนื่องจากผ่านมา 3 รอบ จนถึงเดือนมิถุนายนแล้ว เด็กจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้ว่าจะได้เรียนต่อที่ไหน มหาวิทยาลัยอะไร ทั้งที่สมัยก่อน ป่านนี้เตรียมกิจกรรมรับน้องใหม่กันไปแล้ว

แต่ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกับ TCAS และปัญหาของระบบการศึกษาในภาพรวมที่ยังถูกพูดถึงมากมายนัก นั่นก็คือเอนทรานซ์ระบบใหม่นี้ลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ และค่าใช้จ่ายของเด็ก 1 คนที่ต้องการเข้าไปสู่รั้วมหาวิทยาลัย อยู่ในระดับสูงเกินไปหรือเปล่า

เชื่อหรือไม่ว่า ค่าใช้จ่ายในการพาบุตรหลานเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยบ้านเรา อยู่ในระดับหลายแสนบาทต่อคน นี่ยังไม่รวมค่าเทอมที่รอดูดเงินในกระเป๋าผู้ปกครองต่อไปอีก 4 ปี

วันนี้เรามีตัวเลขที่น่าตกใจมาฝากกัน ศาสตราจารย์ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการด้านเด็กเยาวชนและครอบครัว จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายของเด็ก 1 คนเฉพาะในกระบวนการสมัครสอบและจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ ในระบบ TCAS พบว่าต้องใช้เงินจากกระเป๋าผู้ปกครองราว 7 พันถึง 1 หมื่นบาท

ตัวเลขที่อาจารย์สมพงษ์เก็บข้อมูลมาในส่วนนี้ เป็นตัวเลขเฉพาะช่วงของการสมัครสอบเท่านั้น แต่กว่าจะถึงวันสอบ วันยื่นคะแนน ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะค่าติว หรือค่าเรียนพิเศษ ทำให้ตัวเลขรวมๆ แล้วของเด็กนักเรียน 1 คน หากต้องการเข้าไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ในคณะที่ตนเองใฝ่ฝันไว้ อาจต้องใช้เงินมากถึง 2 แสนบาท ขณะที่ตัวเลขเม็ดเงินจากกระเป๋าผู้ปกครองที่สะพัดอยู่ในระบบ TCAS น่าจะมากถึง 2.5 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

ระบบการศึกษาและการสอบแข่งขันกันเช่นนี้เองที่ทำให้ อาจารย์สมพงษ์ มองว่า สร้างความทุกข์ให้เด็กเกินไปหรือไม่ แม้มหาวิทยาลัยจะได้ประโยชน์จากการกรองเด็ก 5 ชั้นผ่านระบบ TCAS เพื่อให้ได้จำนวนและคุณภาพของนิสิตนักศึกษาตามที่มหาวิทยาลัยต้องการ ถือเป็นการตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยในภาวะที่จำนวนเด็กลดลง เพราะอัตราการเกิดลดอย่างต่อเนื่อง แต่คำถามคือวิธีการแบบนี้ตอบโจทย์ของเด็ก โจทย์ของผู้ปกครอง และโจทย์ของสังคมจริงๆ หรือ

เมื่อ TCAS ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องลดความเหลื่อมล้ำได้จริงๆ หนำซ้ำยังกวาดเด็กเข้าไปจำนวนมากจากการสอบ 5 รอบเพื่อให้กระจายเต็มที่นั่งของแต่ละมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด แต่ผลที่จะเกิดตามมาก็คือ พื้นฐานของเด็กที่แตกต่างกัน แต่ไม่มีระบบรองรับดูแล อาจทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยต้องถูกรีไทร์

เหตุนี้เองนักการศึกษาชื่อดังอย่าง ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ จึงเสนอแนวทางที่จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้มากกว่านี้ ในระบบการศึกษาไทยดูเหมือนระบบ TCAS จะยังอยู่ห่างไกลกับการตอบโจทย์การศึกษาไทย เพราะเป็นหลักคิดที่ใช้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เด็กหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง