เปิดโปรไฟล์ '10รมต.' หน้าใหม่ คณะรัฐมนตรี 'ประยุทธ์5'

เปิดโปรไฟล์ '10รมต.' หน้าใหม่ คณะรัฐมนตรี 'ประยุทธ์5'

หลังโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 18 รมต. น่าสนใจโปรไฟล์ "10รมต." หน้าใหม่ คณะรัฐมนตรี "ประยุทธ์5"

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุด“ประยุทธ์5” จำนวนทั้งสิ้น 18 คน หลังจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำครม.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ต่อไป

สำหรับรายชื่อที่มีการประกาศออกมานั้นมีรัฐมนตรีหน้าใหม่จำนวน 10 คนซึ่งเป็นทั้งอดีตรัฐมนตรี ผู้บริหารภาคธุรกิจ เอกชน รวมถึงอดีตข้าราชการและภาคประชาสังคมซึ่งเคยดำรงดำแหน่งในหน่วยงานต่างๆประกอบด้วย

วีรศักดิ์:คัมเบคกระทรวงท่องเที่ยว
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำรงตำแหน่งล่าสุดเป็นประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” ตั้งแต่ปี 2558 และเป็นประธานกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในปี 2559 ซึ่งได้ยื่นหนังสือลาออกจากทั้งสองตำแหน่งไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาทิ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม, ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
กระทั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในปี 2551สมัย สมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนยุติเส้นทางการเมือง เนื่องจากถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี ในฐานะที่อยู่ในตำแหน่งบริหารพรรคชาติไทยซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคและหลังจากพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ได้เป็นประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

กอบศักดิ์:กูรูเศษฐกิจ-การธนาคาร
กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถืือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค การเงินและการธนาคาร เคยดำรงตำแหน่งอาทิ ผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินและประเด็นต่างๆ,ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ดูแลด้านงานวิจัย และผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดูแลฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ ,ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กิจการธนาคารต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ
ก่อนที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะดึงตัวมาช่วยงานเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ในระหว่างนี้ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อย่างสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เลขาธิการคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น
ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในเดือน ม.ค.2559 และล่าสุดได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ไพรินทร์:บนเส้นทางสายพลังาน
ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในหน่วยงานด้านพลังงานอาทิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), กรรมการ คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ สำนักขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.),ที่ปรึกษามูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย,ที่ปรึกษา คณะกรรมการเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึง เป็นต้น

ศิริ:นักเคลื่อนไหวปิโตรเลียม
ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นบุคคลที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และปิโตรเคมี ดำรงตำแหน่งล่าสุดคือ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสปช.ด้านพลังงาน 2 ตุลาคม 2557 และกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง และกมธ.ปฏิรูปพลังงาน
ที่ผ่านมา “ศิริ” ยังเป็นสมาชิกกลุ่มปฎิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ที่ก่อตั้งโดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และมีส่วนร่วมนำเสนอแนวทางการปฎิรูปพลังงานในหลายประเด็น อาทิ เร่งการประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ ทั้งเอราวัณ และบงกช เพื่อให้ผู้ผลผู้ชนะประมูลโดยเร็ว,การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งแนวทางดังกล่าวถือว่าสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา

สมชาย:เอ็นจีโอด้านพลังงาน
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เคยดำรงตำแหน่งทางราชการอาทิ ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม,อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม,รองปลัดและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งบทบาทในภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม(เอ็นจีโอ)อาทิ ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ,ประธานกรรมการบริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) (GENGO)
ประธานคณะกรรมการบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด,ที่ปรึกษา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ,ที่ปรึกษา กรรมการวิชาการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรรมการศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทยเป็นต้น

กฎษฎา:ลูกหม้อมท.สู่เกษตรฯ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เติบโตมาจากสายงานด้านการปกครองและถือเป็น“ลูกหม้อ”ของกระทรวงมหาดไทยเคยดำรงตำแหน่งทางราชการตั้งแต่นายอำเภอ,ผู้ว่าราชการในหลายจังหวัดอาทิ ยะลาและสงขลาเป็นต้น,ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง,อธิบดีกรมการปกครอง จนกระทั่งขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในชีวิตราชการคือปลัดกระทรวงมหาดไทย
ก่อนจะเกษียรราชการเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นปลัดกระทรวงที่มาจากสาย“สิงห์ทอง”(คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) เป็นคนแรกของกระทรวง
รวมทั้งตำแหน่งอื่นๆอาทิ รองประธานกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย,กรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์,กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในรัฐบาลนี้ เป็นต้น

ลักษณ์:นักการเงินรากหญ้า
ลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหรณ์เติบโตตามสายงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) มาตลอด ตำแหน่งสูงสุดผู้จัดการ ธ.ก.ส.ได้รับเลือกให้เป็นนักการธนาคารแห่งปี 2556 เป็นผู้ริเริ่ม“โครงการธนาคารชุมชน”เพื่อให้บริการทางการเงิน ลดช่องว่างการเข้าถึงแหล่งเงินระหว่างคนในเมืองกับชนบท
รวมไปถึงการก่อตั้ง“โครงการธนาคารโรงเรียน”เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีการออมทรัพย์อย่างสม่ำเสมอ ปลูกฝังให้รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น และยังให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Green Credit) ตลอดจนได้สนับสนุน โครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อให้ชุมชนตระหนักถึงการสร้างป่า ลดภาวะโลกร้อน ลดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน ปลูกจิตสำนึกในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ดี

วิวัฒน์:ปราชญ์เกษตรพอเพียง
วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือที่ส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ“อ.ยักษ์” เป็นผู้มีบทบาทในด้านการเกษตร และยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ,ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ,ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)
รวมทั้งตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับหลายหน่วยงานองค์กร เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมนอกเหนือจากด้านการเกษตร อาทิ ด้านการศึกษา ด้านอุตสาหกรรม ด้านธุรกิจการบริการ ฯลฯ และเคยลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนาม “กลุ่มกรุงเทพสามัคคี”

ชัยชาญ:ปลัดกห.สู่รัฐมนตรี
พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นักเรียนเตรียมทหารรุ่น16 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯรุ่น27 รุ่นเดียวกับ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกดำรงตำแหน่งล่าสุดคือปลัดกระทรวงกลาโหมและเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
เคยดำรงตำแหน่งสำคัญอาทิตุลาการศาลทหารสูงสุด,นายทหารพิเศษ ประจำกรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า,ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหมหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำปลัดกระทรวงกลาโหม และกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการเพื่อเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง,กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้น

อุดม:จากหมอสู่กระทรวงศึกษา
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์
และกรรมการในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์,และเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ
รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งสำคัญอาทิหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล,รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช,คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล,อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล,อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล