ติดปีก'ฟักข้าว'ด้วยวิทยาศาสตร์

ติดปีก'ฟักข้าว'ด้วยวิทยาศาสตร์

ผลสีแดงสดและสรรพคุณทางโภชนาการของฟักข้าวดึงดูดให้ รัตนพงษ์ จันทะวงษ์ ลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจฟักข้าวแบบเต็มตัว เพื่อเป็นเจ้าตลาดรายแรกๆ

ย้อนไป 5 ปีก่อนหน้านี้ ฟักข้าวเป็นพืชที่ดูธรรมดาในสายตาของคนทั่วไป บางบ้านปลูกไว้กินผลจิ้มน้ำพริก บางบ้านใช้แกงส้ม แกงเลียง แต่เมื่อถูกนำมาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ออกสู่ตลาดทั้งรูปน้ำฟักข้าว ซอสฟักข้าว แคปซูลฟักข้าว สบู่ฟักข้าว เครื่องสำอางจากฟักข้าว ทำให้หลายคนรู้จักกับฟักข้าวในราคาที่สูงขึ้น

:ปั้นธุรกิจจากสิ่งใกล้ตัว

รัตนพงษ์ จันทะวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาหารอายุรวัตร์ จำกัด กล่าวว่า เดิมทำงานด้านไอทีมาก่อน แต่ความเป็นหัวหน้าครอบครัวทำให้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลายอย่าง และจำเป็นต้องมองหาอาชีพเสริมทำควบคู่ ซึ่งสิ่งที่คิดอย่างแรกในตอนนั้นคือ ความพอเพียงจากเรื่องใกล้ตัว อย่างเช่นการเป็นเกษตรกร

ไอเดียทำฟาร์มฟักข้าวของรัตนพงษ์ มาจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีโนว์ฮาวในการปลูกฟักข้าวเป็นทุนเดิม เขาจึงรับช่วงต่อ ด้วยการทดลองปลูกระยะแรกเริ่มที่ 2 งาน ก่อนจะขยายเป็น 150 ไร่ในปัจจุบันเพื่อป้อนโรงงานสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงส่งเยื่อหุ้มเมล็ดแบบแช่แข็งป้อนตลาดเวียดนามซึ่งเป็นผู้นำด้านการแปรรูปในปัจจุบัน

เริ่มแรกของธุรกิจฟักข้าว ผู้ประกอบการทดลองทำน้ำฟักข้าวจำหน่ายในงานโอทอป และจวบเหมาะกับที่ เพ็ญพิมล จาตุรนต์รัศมี ผู้จัดการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรงงานต้นแบบแปรรูปอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดลองชิมและอาสาจะนำผลสุกกลับไปพัฒนาสูตรให้ดื่มง่ายยิ่งขึ้น

เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำในปี 2551 เพื่อทำฟาร์มฟักข้าวเต็มตัวหลังนักวิจัยยื่นมือเข้าช่วยอย่างจริงจัง ซึ่งทำให้เห็นโอกาสทางการตลาดชัดเจนยิ่งขึ้น โดยผลิตภัณฑ์แรกที่ได้คือน้ำฟักข้าวบรรจุขวดพร้อมดื่มที่ทำยอดถึง 2,000 ขวดต่อวัน หรือ 5 หมื่นกว่าขวดต่อเดือน ทำให้เขามีรายรับราวเดือนละ 3-4 แสนบาท

เจ้าของธุรกิจฟักข้าว กล่าวต่อว่า เป้าหมายสูงสุดของการทำธุรกิจคือ การมีโรงงานฟักข้าวที่ปราศจากของเสียที่เหลือใช้ในกระบวนการผลิต โดยร่วมกับนักวิจัยพัฒนาเครื่องจักรให้แปรรูปทุกส่วนของฟักข้าวเป็นผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อลดของเสียสู่สิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด

ตอนนี้ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์หลักคือ เนื้อฟักข้าวส่วนที่ติดเปลือก และเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงที่นำมาทำน้ำฟักข้าว ซึ่งตรงส่วนเนื้อยังมีปัญหาเรื่องรสชาติขม เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่พัฒนามาจากมะระและแตงกวา จึงนำเนื้อมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำดื่มโดยตรงไม่ได้ แต่ต้องต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นต่อไป

:ฟักข้าวสยายปีก

นักวิจัยศึกษาโอกาสทางการตลาดฟักข้าว จากข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด IBISWorld ซึ่งเปิดเผยว่า ซอสพริกศรีราชา มียอดจำหน่ายถึง 20 ล้านขวดในปี 2555 โดยอุตสาหกรรมซอสพริกนั้นเติบโตอยู่ในอันดับที่ 8 ถัดจากอุตสาหกรรมผลิตแผงวงจรพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งยังมีอัตราการเติบโต 10% ทุกปีอย่างต่อเนื่องขณะที่อีกหลายธุรกิจดิ่งลงเหว

เมื่อเห็นโอกาสชัดเจน เขาและนักวิจัยไม่รีรอที่จะต่อยอดฟักข้าวในรูปซอส โดยเริ่มสร้างองค์ความรู้ที่เป็นของตัวเอง อาทิ สารสำคัญในซอสฟักข้าว คุณค่าทางโภชนาการที่ได้จากซอสฟักข้าว ซึ่งมีเบต้าแคโรทีนสูงกว่าแครอทถึง 10 เท่า รวมถึงการควบคุมการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี และการขอการรับรองจากองค์การอาหารและยา เพื่อเตรียมพร้อมจะส่งออกตลาดต่างประเทศในอนาคต

“ตอนนี้ยอดขายกว่า 70% ก็ยังเป็นตลาดในประเทศ แต่บริษัทวางเป้าหมายไว้ว่าในปีหน้าจะส่งออกเพิ่มจาก 30% เป็น 60% ให้ได้ เพราะตลาดโลกมีความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติกันมากขึ้น เพื่อชดเชยกับการที่ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพตัวเอง”รัตนพงษ์ กล่าวและว่า ความต้องการตลาดโลกอยู่ที่ 6 พันตัน แต่เวียดนามมีกำลังผลิตประมาณ 10 % และไทยประมาณ 2% ปีหน้าบริษัทจะเพิ่มกำลังผลิตให้มากขึ้นเพื่อขยายไปยังตลาดโลกให้ได้

ธุรกิจฟักข้าวใช้เงินไปกว่าล้านบาท สำหรับพัฒนาเครื่องจักร รองรับการผลิตซอสฟักข้าว เครื่องดื่มน้ำฟักข้าว และผลิตเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวแช่แข็งส่งไปยังตลาดเวียดนาม แต่เขาก็ไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่ง คิดว่าเป็นคู่ค้าที่จะทำให้คนหันมาสนใจผลิตภัณฑ์จากฟักข้าวกันมากขึ้น จากเดิมที่เป็นเพียงพืชพื้นบ้านที่คนสมัยก่อนนำมาต้มจิ้มน้ำพริก หรือทำแกง

แนวทางการต่อยอดฟักข้าวยังมีโอกาสอีกมาก ซึ่งปีหน้าบริษัทมีแผนจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ โดยต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัยอีกว่า ร่างกายผู้สูงอายุต้องการสารอาหารอะไรบ้าง แล้วฟักข้าวตอบโจทย์ได้มากน้อยแค่ไหน ต้องหาส่วนผสมอะไรมาเติมเต็มไหม เป็นต้น

“การลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจของตัวเองเต็มตัว ต้องบริหารจัดการเงินที่มีอยู่ให้ได้ ควบคุมรายจ่ายให้ได้ เพราะรายได้จะไม่เป๊ะๆ ทุกสิ้นเดือนเหมือนงานประจำ รวมถึงต้องมองหาตลาด ใหม่ๆ และพัฒนาสินค้าไม่หยุดเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา”

เขากล่าวอีกว่า เป็นลูกจ้างมาตลอดเกือบครึ่งชีวิต ทำให้การออกมาเป็นนายตัวเองได้รู้ว่า จำเป็นต้องมีทุนทางสังคมหรือเครือข่าย เพื่อจะทำธุรกิจร่วมกัน เพราะธุรกิจเครือข่ายจะให้ความช่วยเหลือด้านงานวิจัย ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แพ็คเก็จ รวมถึงการขึ้นทะเบียน และการจำหน่ายให้สำเร็จด้วยดีในที่สุด

สามารถติดตามผลงานของบริษัทได้ที่ www.arharnaryurawatr.com