รักษ์โลกในเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2563

รักษ์โลกในเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2563

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กับการออกแบบไปด้วยกันได้อย่างไร ในงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2563 มีคำตอบ

 ในงาน เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 นอกจากงานออกแบบที่ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ที่ดูแปลกและแตกต่างในหลายๆ ส่วน ในปีนี้ยังมีส่วนของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยพยายามสะท้อนให้เห็นว่า การมีชีวิตอยู่ในยุคสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อมย่ำแย่ มนุษย์จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใดมารองรับ

การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมในงานนีี้ จึงมีทั้งการแก้ปัญหาในปัจจุบัน อย่างพาวิลเลียน Everlasting Forest และที่มองไกลไปถึงอนาคต อย่าง พาวิลเลียนหลุมหลบภัยทางอากาศ และนวัตกรรมผลิตกระแสไฟฟฟ้าจากชิปเล็กๆ ของคนญี่ปุ่น      

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ถ้าเดินเหนื่อยมากๆ แวะมาที่โซน หลุมหลบภัยทางอากาศ : Bangkok #Safezone Shelter ออกแบบโดยใช้หลักการธรรมชาติ  ไม่ว่าจะเป็นพืชสีเขียว ลม และ น้ำ เพื่อหลบภัยจากภัยพิบัติทางอากาศ นั่นก็คือ มลพิษต่างๆ โซนนี้จัดแสดง ณ ลานจัตุรัสไปรษณีย์ บางรัก

หลุมหลบภัยทางอากาศ เป็นโซนที่ร่มรื่น เพื่อให้เห็นว่า ถ้าในอนาคตเกิดสภาวะอากาศย่ำแย่ การสร้างพื้นที่หายใจดีๆ ทั้งระดับปัจเจกและสาธารณะสามารถทำได้ โซนนี้มีคนทำงานหลายส่วนทั้งคนออกแบบ งานพืชพรรณ และงานโครงสร้าง ออกแบบโดยบริษัทฉมา จำกัด 

ในอนาคต หากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต  ในระดับปัจเจก ผู้ออกแบบเสนอไอเดียชุดสูทพร้อมตัวกรองอากาศแบบพกพา แต่ถ้าเป็นพื้นที่สาธารณะ  อาทิ พื้นที่คอยรถประจำทางริมถนน สวนสาธารณะ สนามกีฬาใต้ทางด่วน และทางเดินลอยฟ้า กระทั่งตึกสูง พวกเขาเสนอไอเดียระบบฟอกอากาศ พัดลมหมุนเวียนอากาศร่วมกับพืชสีเขียว เนื่องจากพืชทุกชนิดมีความสามารถในการดักจับฝุ่นจากการคายน้ำด้วยปากใบ 

20200201180439132_1

(Everlasting Forest งานไฮไลท์ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ )

 โดยมีหลักเกณฑ์การออกแบบพาวิลเลียนนี้ ให้มีพื้นที่ปกป้องคนจากมลภาวะทางอากาศ ทั้งดักฝุ่น กรองอากาศให้สะอาด เก็บกักอากาศดี และมีพื้นที่สีเขียวโดยใช้ ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ที่มีขนาดและความสูงต่างกัน รวมถึงใช้คุณลักษณะของใบต่างๆ ช่วยดักจับฝุ่นละออง และใช้ไม้คลุมดินที่ดูดซับสารพิษหรือสารระเหยที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งหมดใช้พื้นที่ 15 ตารางเมตร จะให้ออกซิเจน 92.6 กิโลกรัมต่อปี 

อีกส่วนที่น่าทึ่ง ก็คือ เทคโนโลยีนำชิปเล็กๆ มาผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานธรรมชาติที่เรานึกไม่ถึงทั้งจากร่างกายมนุษย์ แตงโม ไข่ ฯลฯ ผลงานของนักคิดชาวญี่ปุ่น แม้นวัตกรรมชุดนีี้จะให้กระแสไฟฟ้าไม่มาก แต่สามารถใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ และในอนาคตสามารถใช้ทดแทนถ่านไฟฉายได้ ค่าใช้จ่ายในการผลิตราคาค่อนข้างถูก และกำลังทดลองเพื่อพัฒนาต่อยอด สามารถไปชมได้ที่ O.P.Place 

อีกส่วนที่อยากแนะนำ Everlasting Forest (ป่าที่จะอยู่กับเราตลอดไป)

พาวิลเลียนนี้จะให้ความรู้ การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง  เป็นพื้นที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและธรรมชาติรอบตัว ออกแบบโดยวัสดุที่มีกระบวนการผลิตและการติดตั้งที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ,วัสดุที่นำมาใช้ซ้ำได้ เพื่อลดปริมาณขยะ หรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ โดยวัตถุดิบที่ใช้ในพาวิลเลี่ยนทั้งหมดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ใช้ไฟเบอร์ก๊าซทดแทนเหล็กเส้น โดยนำมาเคลือบด้วยโพลิเมอร์ 

ป่าที่จะอยู่กับเราตลอดไป แบ่งออกเป็น 3 โซนด้วยกัน คือ  Green Economy  , Circular Economy ผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล โดยเปลี่ยนขยะพลาสติกหรือพลาสติกเหลือใช้มาเป็นเก้าอี้ ดอกไม้พลาสติก ฯลฯ และ Bio Economy พลาสติกชีวภาพ  จัดแสดง ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก

       พิบูลย์ อมรจิรพร สถาปนิก ผู้ออกแบบ ยกตัวอย่างป่าจำลองในพาวิลเลียน และโซน Bio Economy  ว่า ส่วนใหญ่เรื่องราวเหล่านี้ มักจะอยู่ที่ศูนย์พันธุ์ไม้ต่างๆ และพิพิธภัณฑ์ แต่เราอยากให้คนได้ดูส่วนนี้ด้วย

       "มีทั้งความสวยงามใบของต้นไม้ประเภทต่างๆ  และป่าจำลอง  เพื่อที่จะบอกว่า มีป่าอีกแบบที่คนไม่เคยเห็น ไม่ใช่ป่าในคอนโดหรือสวนสาธารณะ เราคัดเลือกต้นไม้แปลกๆ มาจัดเรียงโทนสี และพูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพ

ในส่วนของโซน Circular Economy จะได้เห็นดอกไม้เทียมทำจากผ้าที่ผลิตจากขวดพลาสติกใสรีไซเคิล ,เก้าอี้พลาสติก ฯลฯ ตอนกลางคืนจะจำลองสีของท้องฟ้าหลายๆ ช่วงเวลา ปรากฎการณ์ธรรมชาติจำลอง เพื่อจะบอกคนว่า สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราไม่รักษาไว้ดีๆ คงไม่ได้อยู่ให้เห็นตลอดไป"

    เทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2563 จะจัดแสดงตั้งแต่ว้ันนี้-9 กุมภาพันธ์ 2563 ดูได้ที่เว็บ www.bangkokdesignweek.com