"สมศักดิ์" รับเรื่อง "ทนายนกเขา" วอนแก้ พ.ร.บ.นิติวิทยาศาสตร์

"สมศักดิ์" รับเรื่อง "ทนายนกเขา" วอนแก้ พ.ร.บ.นิติวิทยาศาสตร์

"สมศักดิ์" รับเรื่อง "ทนายนกเขา" วอนแก้ไข พ.ร.บ.ให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ หลังพบคณะกรรมการยังมี ผบ.ตร.-ผบ.พิสูจน์หลักฐาน เข้าร่วม "คดีแตงโม" ด้วย ยันพร้อมทำให้ดีที่สุดเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้คนรุ่นหลังแม้รัฐบาลเหลือเวลา 1 ปี

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับหนังสือร้องเรียนจาก นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ  "ทนายนกเขา" ทนายความและแกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) พร้อมด้วยนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กรณี ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เร่งรัดแก้ไขพระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2559 สืบเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตอย่างมีปริศนาของ นางสาวภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม ซึ่งผ่านระยะเวลามากว่า 1 เดือนแล้ว จนทำให้สาธารณชนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการทำงานของพนักงานสอบสวน 

จึงนำมาสู่การยื่นคำร้องขอให้ผ่าชันสูตรศพซ้ำโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แต่กลุ่มประชาชนคนไทยเห็นว่า ข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ฯ เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน เพราะคณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่ตั้งขึ้นนั้น ยังมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งการที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะอนุญาตให้มีการชันสูตรศพซ้ำได้หรือไม่นั้น ย่อมทำให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ขาดคุณสมบัติการเป็นหน่วยงานอิสระ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

นอกจากนี้ ยังขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 ที่กำหนดให้การสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และให้มีหน่วยงานที่เป็นอิสระด้านนิติวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 2 หน่วยงานที่เป็นอิสระต่อกันเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแบบมีทางเลือก จึงขออาศัยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 43 (3) , มาตรา 50 (10) , มาตรา 51 เพื่อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ซึ่งกำกับดูแลสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เร่งรัดการแก้ไขจากผิดให้เป็นถูกดังนี้

1. แก้ไขบทบัญญัติในมาตรา 5 (4) ของพระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559 โดยให้บัญญัติว่า “ให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ผู้มีส่วนเสียร้องขอ” เพื่อให้การร้องขอผ่าชันสูตรซ้ำ สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ตาย ทั้งคดีอาญา หรือไม่ใช่คดีอาญา

2. ยกเลิกขั้นตอนการผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพราะการชันสูตรศพทุกครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นคดีอาญาทุกราย

3. รายงานผลการผ่าชันสูตรซ้ำ หากไม่ปรากฏในสำนวนคดีพนักงานสอบสวนจะถือว่ามีความผิด แม้ไม่ใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนเป็นผู้ร้องขอให้ผ่าชันสูตรก็ตาม 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เวลาของรัฐบาลเหลืออีกเพียง 1 ปี เท่านั้น ส่วนการแก้กฎหมายแต่ละฉบับต้องทำอย่างรวดเร็วจนไม่แน่ใจว่าจะสามารถแก้ไขให้เสร็จภายใน 1 ปี ได้หรือไม่ แต่หากไม่ทันหรือไม่เสร็จก็ยังถือเป็นแนวทางและบรรทัดฐานให้คนรุ่นหลังเห็นถึงความสำคัญในการแก้กฎหมายฉบับนี้เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ ในสาระของการเขียนกฎหมายในอดีตก็สู้ปัจจุบันไม่ได้ แต่ปัจจุบันก็สู้อนาคตไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องพัฒนาไปตามกลไกหรือวิถีทางของเครื่องมือที่เราใช้อย่างถูกต้องอย่างสมบูรณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งต้องมีคณะกรรมการเข้ามาร่วมกลั่นกรองให้ถึงจุดที่พอดี ตนให้สัญญาว่าจะติดตามเรื่องการแก้กฎหมายให้ถึงแม้จะมีเวลาน้อยนิดก็ตาม