"พลเดช" แนะจับตา แก้ "กฎหมายลูกเลือกตั้ง" ส่อเกินเจตนารมณ์ "รัฐธรรมนูญ"

"พลเดช" แนะจับตา แก้ "กฎหมายลูกเลือกตั้ง" ส่อเกินเจตนารมณ์ "รัฐธรรมนูญ"

"พลเดช" แนะ จับตา 14 ประเด็น แก้ไข กฎหมายลูกเลือกตั้ง ชี้ คำนวณปาร์ตี้ลิสต์ มีหลายสูตร ยังคงถกเถียงกัน ระบุ บางปม ส่อแวว เกินกรอบเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ มาตรา 83 , 86 และ 91

Nation Onlion เผยแพร่บทความโดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่า หลังจากที่รัฐสภาได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 83  86  และ 91 ผ่านไปเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว บัดนี้ถึงเวลาต้องแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดใน "พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง" พ.ศ.2560 ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ดังกล่าว

ในคราวการประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 มีข้อเสนอญัตติและร่างแก้ไขเพิ่มเติม พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ...จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ของรัฐบาล  2.ของพรรคเพื่อไทย  3.ของนายวิเชียร ชวลิต และ 4. ของพรรคก้าวไกล 

ที่ประชุมใหญ่รัฐสภาได้มีการอภิปรายกันอย่างเผ็ดร้อน แต่ในที่สุดเสียงข้างมากของที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบต่อหลักการของร่าง พรป.ที่เสนอมาทั้ง 4 ฉบับ พร้อมกับตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯจำนวน 49 ท่าน ให้ไปพิจารณาในรายละเอียด ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป 

ประเด็นสำคัญที่ประชาชนควรติดตาม

ในร่างแก้ไขเพิ่มเติม พรป.ทั้ง 4 ฉบับ มีประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาและประชาชนผู้สนใจควรติดตาม 14 ประเด็น ได้แก่ 

1.จัดให้มีเลือกตั้ง 2 ระบบ

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ


2.กำหนดวันและสถานที่ส่งรายชื่อผู้สมัคร

แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดวันและสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

3.คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

4.วิธีคำนวณ ส.ส. 

แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้ง  ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงกันมากพอสมควรว่า จะใช้วิธีคำนวณแบบไหน มีหลายสูตรหลายระบบวิธีคิด


5.การตรวจสอบสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง

แก้ไขเพิ่มเติมการตรวจสอบสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง(ส.ส.เขต) โดยตัดเรื่องการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อออก


6.จัดทำบัญชีรายชื่อ

แก้ไขเพิ่มเติมการจัดทำบัญชีรายชื่อในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ(ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์)


7.การให้หมายเลขผู้สมัคร

กำหนดให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มาบังคับใช้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ประเด็นนี้ก็ถกเถียงกันมาก ฝ่ายหนึ่งเสนอให้ใช้เบอร์เดียวกันทั้งแบบเขตและแบบบัญชี อีกฝ่ายว่าทำไม่ได้เพราะไปขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 90 ซึ่งไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมเสียในคราวที่ผ่านมา

8.กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่าย

แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง ประเด็นนี้ก็พูดกันเยอะว่าควรกำหนดหรือไม่ต้องกำหนดเลย กำหนดแค่ไหนจึงพอเหมาะ ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตน


9.ข้อห้ามในการหาเสียง

แก้ไขเพิ่มเติมข้อห้ามในการหาเสียง การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนนและการประกาศผลการนับคะแนน เพื่อให้ครอบคลุมการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ นี่ก็ถกกันมากว่าจะนับคะแนนแบบไหน ที่เขตเลือกตั้งหรือรวมมานับที่อำเภอ ทั้งหมดนี้ก็ลองกันมาทุกรูปแบบแล้ว


10.กรณีจำนวนบัตรกับคะแนนไม่ตรงกัน

แก้ไขเพิ่มเติมการดำเนินการในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน


11.การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

แก้ไขเพิ่มเติมการคำนวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ


12.การประกาศผล

กำหนดให้มีการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ


13.การประกาศในราชกิจจานุเบกษา

กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาและส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ประธานรัฐสภาทราบ

 

14.กรณีเลือกตั้งไม่สุจริต

แก้ไขเพิ่มเติมกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ประเด็นทั้งหมดที่สรุปมาเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรอบของเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 83  86  และ 91 ที่แก้ไขไป แต่บางส่วนทำท่าจะแหลมออกไปเกินขอบเขตดังกล่าวอย่างจงใจ  

จึงเป็นหน้าที่ที่ภาคประชาชนและพลเมืองผู้ตื่นรู้จะต้องติดตามดูว่า ส.ส.และ ส.ว.แต่ละท่านแต่ละพรรค จะมีท่าทีทรรศนะในเรื่องเหล่านี้กันอย่างไร และ ผลสุดท้าย มติเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาจะออกมาในหน้าตาอย่างไร