"ติดโควิด" ต้องอยู่ Home Isolation "รักษาตัวที่บ้าน" มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

"ติดโควิด" ต้องอยู่ Home Isolation "รักษาตัวที่บ้าน" มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

ขณะที่ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการ "หาเตียง" เริ่มเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการทำ Home Isolation หรือการรักษาตัวที่บ้าน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ยังอยู่ในระดับสีเขียว แต่ทำอย่างไรให้ปลอดภัย ทั้งสำหรับตัวเอง และครอบครัว

หลังจากกระทรวงสาธารสุขได้ประกาศยกระดับสถานการณ์โควิด-19 เตือนภัยระดับ 4 ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ประกอบกับการที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งที่เข้าระบบและแบบ ATK ยังมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ส่งผลต่อเนื่องถึงสถานพยาบาลที่มีไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นในผู้ป่วยที่ยังอยู่ในระดับสีเขียวหรือมีอาการป่วยเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการการพักรักษาด้วยอยู่ที่บ้านหรือการทำ Home Isolation จึงเป็นทางเลือกในลำดับแรกของผู้ที่ตรวจพบว่า ตนเองติดเชื้อ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดทำระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน (Home Isolation) ในการจับคู่หน่วยบริการดูแลและขณะนี้ยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อประชาชนตรวจ ATK ด้วยตนเองและมีผลติดเชื้อโควิดสามารถลงทะเบียนระบบ HI ดังนี้

กทม.

1. โทร.เบอร์สายด่วนของแต่ละเขต ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ กรุงเทพมหานคร  

2. โทรสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2

3. เพิ่มเพื่อนทาง Line : @BKKCOVID19CONNECT

ต่างจังหวัด

โทร. Call Center ของจังหวัดหรืออำเภอ (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด) ทั้ง กทม. และต่างจังหวัด

หากไม่ทราบหรือไม่สะดวกโทร.ตามรายละเอียดข้างต้น ให้ปฏิบัติดังนี้ 

1. โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 

2. ลงทะเบียนด้วยตนเองที่ คลิก 

3. แอดไลน์ สปสช. โดยเพิ่มเพื่อน พิมพ์ @nhso หรือ คลิก

    3.1 เลือกเมนูบริการเกี่ยวกับโควิด-19

    3.2 เลือกลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation)

\"ติดโควิด\" ต้องอยู่ Home Isolation \"รักษาตัวที่บ้าน\" มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

  • ลักษณะที่พักอาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย

1. ผู้ป่วยโควิดต้องอาศัยในสถานที่พักอาศัยตลอดระยะเวลากักตัว ไม่ให้ออกจากที่พัก

2. มีห้องนอนส่วนตัว ถ้าไม่มีควรมีพื้นที่กว้างพอที่จะนอนห่างจากผู้อื่นกรณีมีผู้อยู่ร่วมบ้าน และต้องเปิด ประตูหน้าต่างให้ระบายอากาศได้ดี

3. มีผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็นให้ได้ ไม่ต้องออกไปจัดหานอกบ้านด้วยตนเอง

4. ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมบ้านสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสุขอนามัย และการแยกจากผู้ป่วยได้

5. สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลและเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก หากบ้านหรือที่พักไม่เหมาะสม อาจต้องหาสถานที่แห่งอื่นในการแยกตัว

  • ข้อแนะนำการสังเกตอาการด้วยตนเอง

1. ให้สังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิและ oxygen saturation ทุกวัน

2. หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจ หอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94% หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่

3. เมื่อจะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถที่โรงพยาบาลมารับ ไม่ใช้รถสาธารณะ ให้ทุกคนในรถใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถ เพื่อเพิ่มการระบายอากาศ

  • แพทย์ติดตามดูแลผู้ป่วย

ขณะเดียวกัน ในส่วนของ บุคลากรทางการแพทย์ คำแนะนำในการติดตามดูแลผู้ป่วย COVID-19 ที่อยู่ที่บ้าน ฉบับปรับปรุงวันที่ 4 มกราคม 2565 อาจปรับได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและด้านการควบคุมโรค ประกอบกัน ดังนี้

1. เป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการ

2. มีสุขภาพแข็งแรง อาจมีโรคร่วมที่รักษา และ สามารถควบคุมได้ตามดุลยพินิจของแพทย์

3. อายุน้อยกว่า 75 ปี

4. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง