เปิดไทม์ไลน์ ครม.ชะลอเคาะ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ปมขัดแย้ง 2 กระทรวงใหญ่

เปิดไทม์ไลน์ ครม.ชะลอเคาะ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ปมขัดแย้ง 2 กระทรวงใหญ่

เป็นประเด็นที่น่าจับตามองอีกครั้ง สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายหลัง 7 รมต.พรรคภูมิใจไทยไม่เข้าประชุม ครม. คัดค้านกรณี มท.ขอความเห็นชอบเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและขยายสัมปทานกับ "บีทีเอส" ออกไป

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยทั้ง 7 คน แจ้งไม่เข้าร่วมประชุม ครม. โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจส่วนตัว ประกอบด้วย หัวหน้าพรรค นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา, นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย, น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ, น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม 

ทำให้ที่ประชุม ครม.วันนั้นต้องเลื่อนพิจารณาออกไปกรณีที่กระทรวงมหาดไทยเสนอขอความเห็นชอบการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บมจ. บีทีเอสซี บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ระยะเวลา 30 ปี ก่อนที่จะหมดสัญญาในปี 2572 (ระยะเวลาที่เสนอต่อสัมปทานระหว่าง ปี 2572 - 2602) เพื่อแลกกับการคงอัตราค่าโดยสาร 65 บาท ตลอดสาย

ประเด็นขณะนี้ที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม ไปหารือกันให้ได้ข้อสรุปในประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีความเห็นแย้งกัน แล้วนำวาระการพิจารณาเสนอ ครม.อีกครั้ง

จุดเริ่มต้นที่เป็นปมความขัดแย้งระหว่าง 2 กระทรวงใหญ่ ระหว่าง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย เริ่มตั้งแต่มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563 ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้รายงานผลการเจรจาต่อรองกับผู้รับสัมปทานโดยคณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 และคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1109/2562 ประชุมครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2562 และครั้งที่ 10/2562 เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2562 มีเนื้อหาดังนี้

1.ระยะเวลาร่วมลงทุนเพิ่มเติม โดยจะมีการขยายระยะเวลาร่วมลงทุนเพิ่มเติมจากเดิมสิ้นสุดปี 2572 เป็นสิ้นสุดปี 2602 หรือ 30 ปี

2.โครงสร้างอัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ระหว่างปี 2562-2602 และเส้นทางหลัก ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค.2572 -2602 อัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท โดยจะปรับอัตราค่าโดยสารทุก ๆ 24 เดือน นับจากวันที่เริ่มใช้อัตราค่าโดยสารตารางเดียว

ต่อมาวันที่ 7 ก.พ.63 ก่อนการประชุม ครม.เพียงวันเดียว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ส่งหนังสือถึงที่ประชุม ครม.มีใจความโดยสรุปว่า กระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมของ กทม.แล้ว ขอยืนยันความเห็นเดิมว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กทม.เนื่องจากข้อมูลที่ กทม.จัดทำเพิ่มเติมนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริง ที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนามคมแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะในประเด็นของการคำนวณอัตราค่าโดยสาร การรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย และต้องรอคำยืนยันจาก กทม.เนื่องจาก การพิจารณากรอบวงเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตจะได้ข้อสรุป จึงมีความจำเป็นต้องทราบความชัดเจนของ แนวทางการติดตั้งสะพานเหล็กซึ่งเป็นโครงสร้างสะพานของรถไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง เพื่อประกอบการจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายของโครงการ

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2563 และวันที่ 2 พ.ย.2564 ขอทราบผลการพิจารณาของ กทม. และปัจจุบัน กทม.ยังไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาให้กระทรวงคมนาคมทราบ

สำหรับก่อนหน้าที่ ครม.ชะลอการตัดสินใจเรื่องโครงการรถไฟฟ้ามาแล้วถึง 4 ครั้ง มีดังนี้

ครั้งแรก : ช่วงเดือน ส.ค.2563 จบลงด้วยการถอนเรื่องออกไป พร้อมกับมีรายงานว่านายกรัฐมนตรีสั่งการให้ไปศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อนนำเสนอใหม่อีกครั้ง 

ครั้งที่ 2 : วันที่ 17 ต.ค. 2563 โดยสื่อมวลชนรายงานตรงกันว่า เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งที่ประชุม ครม.ในขณะนั้นว่ากระทรวงมหาดไทย ขอถอนเรื่องดังกล่าวออกจากวาระการประชุมโดยไม่ระบุสาเหตุ และกระทรวงคมนาคมได้ยื่นหนังสือด่วนที่สุด ลงนามโดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ลงวันที่ 16 ต.ค.2563 ตั้งข้อสังเกต 4 ข้อ จากกรมการขนส่งทางราง ในลักษณะเป็นข้อทักท้วงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ครั้งที่ 3 : 19 ต.ค.2564 โดยเสนอที่ประชุม ครม.ให้พิจารณาเรื่องต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกครั้ง แต่ต้องถอนเรื่องออกไปอีกเช่นกัน เพราะมีข้อทักท้วงจากกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง

ครั้งที่ 4 : วันที่ 8 ก.พ.2565 รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจ ลาประชุม ครม.หนึ่งในนั้นคือนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่เป็นตัวแปรสำคัญของโครงการนี้