“ภูมิใจไทย” บอยคอต “รัฐบาลร้าว” ปมต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

“ภูมิใจไทย” บอยคอต “รัฐบาลร้าว” ปมต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

รมต.ภูมิใจไทย บอยคอตประชุม ครม.ค้านต่อสัมปทานสายสีเขียว นายกฯ มั่นใจทีมกฎหมาย สั่งเร่งเคลียร์ให้จบ ประชุมรอบหน้าต้องเคาะ รัฐมนตรี ปชป.แนะเร่งหาข้อสรุป “กฤษฎีกา” แจงอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาแล้วไม่ขัดกฎหมาย “ศักดิ์สยาม” ยืนยันค้านต่อสัมปทาน 30 ปี

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ก.พ.2565 กระทรวงมหาดไทยเสนอขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ออกไป 30 ปี ซึ่งวาระนี้เลื่อนเป็นวาระสุดท้ายของการประชุม และใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง มีรัฐมนตรีแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง

ก่อนการประชุม ครม.ได้มีรัฐมนตรีสังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ส่งหนังสือลาทำให้รัฐมนตรี 7 คน ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข , นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม , นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย , น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล

สำหรับเหตุผลการยื่นลาประชุม ครม.เพราะติดภารกิจ และไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานออกไปอีก 30 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ทักท้วงมาตลอดและส่งหนังสือไปถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อนำเรื่องคัดค้านเสนอเข้า ครม.รวม 6 ครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.2563 ถึงวันที่ 7 ก.พ.2565

ล่าสุดการประชุม ครม.วันที่ 8 ก.พ.2565 กระทรวงคมนาคมเสนอความเห็นเพิ่มเติม โดยเห็นว่าข้อมูลที่กรุงเทพมหานครจัดทำเพิ่มเติมไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม ดังนี้

1.การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้าง และที่ดินตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ช่วงยังคงเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เนื่องจากยังไม่มีการโอนไปยังกรุงเทพมหานคร เนื่องจากยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง 

2.การคำนวณค่าโดยสาร และการรองรับระบบตั๋วร่วม 

3.ความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย ที่กรุงเทพมหานครยืนยันว่าจะเข้าดำเนินการตั๋วร่วมแต่จะไม่ยอมลงทุนเอง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าผ่านการพิจารณาจากครม.แต่ยังไม่เสร็จเนื่องจากกระทรวงคมนาคมเพิ่งตั้งข้อสังเกตถึงการพิจารณาเรื่องดังกล่าว 4 ข้อลงวันที่ 7 ก.พ.2565 ยืนยันว่า ไม่ได้ถอนวาระดะงกล่าวออกไปส่วนคำตอบดังกล่าวจะมาเมื่อไหร่นั้นถ้าได้มาเร็วก็เร็วได้มาอาทิตย์หน้าก็อาทิตย์หน้าซึ่งนายกรัฐมนตรีวางกรอบให้ดำเนินการโดยเร็ว

เมื่อถามว่า หากกระทรวงคมนาคมไม่เห็นชอบ ครม.จะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไม่ได้ ใช่หรือไม่นายวิษณุกล่าวว่าสามารถโหวตพิจารณาได้หลายเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องเห็นชอบกัน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ณ ตอนนี้ทางกระทรวงคมนาคม ยังต้องการให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่ง ครม.มีมติให้ไปชี้แจงเพิ่มเติมข้อมูลและเสนอกลับเข้ามาใหม่

“ต้องไปชี้แจงและนำกลับมาเสนอใหม่ และวันนี้ที่ประชุม ครม. ก็ได้มีการพิจารณาวาระดังกล่าว ไม่ได้เป็นการถอนออกไป เพียงแค่ให้เอาข้อมูลมาเพิ่มเติมและพิจารณาในที่ประชุม ครม.ครั้งต่อไป”

สั่งรอบหน้าเคาะได้แล้ว

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ช่วงต้นการประชุมวาระดังกล่าว เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รายงาน ครม.ว่า อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาร่างสัญญาเป็นไปตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว และหากกรุงเทพมหานครยืนยันยึดผลประโยชน์ประชาชนก็ไม่เป็นไร

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ อธิบายว่า การพิจารณาวันนี้ไม่ใช่การต่อสัมปทานแต่เป็นการแก้ไขสัญญาเพื่อแก้ไขหนี้สินที่เกิดขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานครหรือรัฐบาลฝ่ายเดียวก็แก้ไขไม่ได้ โดยต้องมีเอกชนมาช่วยและประชาชนจะได้ประโยชน์ ซึ่งจะได้แก้ปัญหาหนี้ 5 หมื่นล้านบาท และการจะให้เอกชนลดค่าโดยสารให้ต่ำกว่า 65 บาทตลอดสาย ไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าต้องการราคาถูกต้องให้กรุงเทพมหานครลดส่วนแบ่งรายได้เพื่อนำไปชดเชย

รวมทั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 แล้วที่เสนอเข้า ครม.แต่เมื่อมีข้อสงสัยและกระทรวงคมนาคมทำหนังสือมาเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีคำถามที่ต้องการให้ตอบ 4 ข้อ ส่วนใหญ่ชี้แจงหมดแล้วเหลือเพียงประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องทำให้ชัดเจนก่อนเข้า ครม.

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ต้องนำเข้า ครม.เพราะมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว และถ้าเราไม่ทำอะไรอาจขัดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ถึงอย่างไรต้องนำเข้าสู่การพิจารณา

รมต.หนุนเร่งพิจารณา

การประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีส่วนใหญ่เห็นด้วยที่เร่งพิจารณา โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่าเข้า ครม.หลายรอบแล้ว หากต้องตอบคำถามเห็นแบบนี้ต่อไปจะไม่จบ

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ควรตัดสินใจเพราะประชาชนเลือกเรามาแล้วให้เราเป็นคนตัดสินใจ รัฐบาลควรแสดงความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขึ้นมาว่า “รอบหน้าเคาะได้แล้ว” ทำให้นายจุติ ระบุว่า อยากให้พิจารณาให้เสร็จภายในวันนี้เลย

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอว่า ต้องตอบคำถามกับประชาชนให้เคลียร์ ต้องชี้แจงให้ได้ว่าถ้าผ่านเพราะอะไรหรือไม่ผ่านเพราะอะไร 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่ารัฐบาลควรตัดสินใจได้แล้ว แต่มีรัฐมนตรีบางคนแสดงความไม่มั่นใจในข้อกฎหมายและพยายามถามซ้ำหลายครั้งว่าการเจรจาและร่างสัญญาไม่ขัดกฎหมายใช่หรือไม่ อาทิ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายกฯมั่นใจทีมกฎหมาย

ช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ระบุในที่ประชุมถึงราคาค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ว่า “ก่อนหน้านี้ก็เห็นด้วยกันมาแล้ว แล้วทำไมตอนนี้ถึงมาเปลี่ยนใจ” และในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ พูดในที่ประชุมว่า “วันนี้ผมพิสูจน์แล้วว่าใครเป็นอย่างไร ขอบคุณทุกคนที่อยู่ในห้องนี้” และระบุอีกว่า “ปัญหานี้คาราคาซังมานานแล้ว อยากให้มันจบ”

ในช่วงหนึ่ง นายกรัฐมนตรีสอบถามว่า นำเรื่องกลับมาพิจารณาใน ครม.สัปดาห์หน้าได้หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ ตอบว่า ไม่น่าจะทัน เพราะต้องทำหนังสือถามไปหลายหน่วยงาน แม้ว่าทุกคำถามจะตอบไปแล้ว แต่มีข้อที่ต้องถามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงไม่น่าจะทัน

รวมทั้งในช่วงพักการประชุมก่อนเข้าวาระนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คุยเล่นกับรัฐมนตรีว่า “วันนี้บรรยากาศดูเหงาๆ รัฐมนตรีหายไปเยอะ สงสัยรถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ทำให้คนที่อยู่บริเวณนั้นหัวเราะชอบใจ ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ บอกด้วยว่า “ผมเชื่อมั่นในฝ่ายกฎหมายของผม”

“ศักดิ์สยาม”ยืนยันค้าน

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้ทำหนังสือขอลาการประชุม ครม. เนื่องจากติดภารกิจสำคัญ ส่วนกรณีที่มีวาระการพิจารณาขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือถึง สลค.เกี่ยวกับความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.

โดยอ้างอิงตามหนังสือ 7 ฉบับที่กระทรวงคมนาคมมีความเห็นไปแล้วช่วงที่ผ่านมา โดยกระทรวงคมนาคมพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมของกรุงเทพมหานคร แล้วขอยืนยันตามความเห็นเดิมว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กทม. เนื่องจากข้อมูลที่ กทม. จัดทำเพิ่มเติมนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะในประเด็นของการคำนวณอัตราค่าโดยสาร การรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย

กรรมสิทธิ์ยังเป็นของ รฟม.

นอกจากนี้ ปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังคงเป็นหน่วยงานเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในสิ่งก่อสร้างและที่ดินตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ช่วง อันเป็นสาระสำคัญที่ไม่อาจเห็นด้วยต่อแนวทางการดำเนินการตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย นอกเหนือจากประเด็นอื่นๆ ที่กระทรวงคมนาคมได้เคย นำเสนอและแจ้งยืนยันในครั้งนี้

กระทรวงคมนาคมขอให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม กรณีที่ กทม. รายงานว่าการโอนกรรมสิทธิ์ ยังไม่สมบูรณ์เนื่องจาก รฟม. ยังไม่สรุปรายละเอียดด้านการเงินช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ทำให้รับโอนโครงการไม่ได้ กระทรวงคมนาคม ขอรายงานข้อเท็จจริงว่ากรุงเทพมหานคร รฟม.สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และกระทรวงคมนาคม ได้หารือสรุปรายละเอียดค่าใช้จ่ายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ร่วมกันเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2563 แต่ยังมีประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามเงื่อนไขการอนุญาตให้เข้าพื้นที่ กรณีการติดตั้งสะพานเหล็กแยกหทัยราษฎร์ และแยกพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งรอคำยืนยันจากกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ เนื่องจากการพิจารณากรอบวงเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะได้ข้อสรุปมีความจำเป็นต้องทราบความชัดเจน ของแนวทางการติดตั้งสะพานเหล็กทั้ง 2 แห่ง เพื่อประกอบการจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายของโครงการ ซึ่งกระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2563 และวันที่ 2 พ.ย.2564 ขอทราบผลการพิจารณาของ กทม. และปัจจุบัน กทม. ยังไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาให้กระทรวงคมนาคมทราบ

คลังชี้ต่อสัมปทานเป็นประโยชน์

นายสันติ​ พร้อมพัฒน์​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะมีการเสนอ ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า​ หลังจากที่​ ครม.ในสัปดาห์นี้​ ขอให้นำสัญญาสัมปทานดังกล่าว​ กลับไปทบทวนอีกครั้งตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม

"การต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวให้กับบีทีเอสน่าจะเป็นประโยชน์ต่​อประชาชน​ เนื่องจาก จะทำให้ใช้ตั๋วใบเดียวตลอดทั้งสาย​ ไม่ต้องออกจากระบบ​ แล้วมาซื้อตั๋ว​อีกครั้ง​ ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารแพงขึ้น​ เพราะเมื่อมาซื้อตั๋วใหม่จะต้องเสียค่าเข้าระบบในแต่ละครั้ง​ นอกจากนี้ การต่ออายุสัมปทานให้กับบีทีเอสยังมีเงื่อนไขให้บีทีเอสต้องรับภาระหนี้ในส่วนต่อขยายอีกด้วย