รมว.สาธารณสุข เซ็นปลดล็อก "กัญชา" พ้นยาเสพติดสิ้นเชิง

รมว.สาธารณสุข เซ็นปลดล็อก "กัญชา" พ้นยาเสพติดสิ้นเชิง

รมว.สาธารณสุข เซ็นปลดล็อก "กัญชา" พ้นยาเสพติดประเภทที่ 5 มีผลบังคับใช้ใน 120 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพืช "กัญชา" กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างรายได้ของประชาชน

โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่การประกาศใช้ พ.ร.บ. ยาเสพติด ฉบับที่ 7 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 เพื่อปลดล็อกกัญชาให้ใช้ทางการแพทย์ และในปี 2563 ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อกส่วนต่างๆ ของกัญชาออกจากยาเสพติด ยกเว้นช่อดอก ใบติดช่อดอก และเมล็ดกัญชา ที่ยังเป็น ยาเสพติด เพื่อให้สามารถนำไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้เอื้อต่อการปลูกของแต่ละครัวเรือน

รวมทั้งการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อดูแลสุขภาพ จึงนำไปสู่การถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่  9 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยได้จัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. …. ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแล้ว

นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565

ทางพรรคภูมิใจไทยก็ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ….ต่อประธานสภาผู้แทนราษฏรและประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณานำเข้าสู่กระบวนการตราเป็นพระราชบัญญัติ และมีผลบังคับใช้โดยเร็วต่อไป การมีกฎหมายเฉพาะกัญชา กัญชง จึงเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งเพื่อยืนยันว่า กัญชา กัญชง ได้พ้นจากความเป็น ยาเสพติด แต่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุม เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ตามนโยบายรัฐบาล หลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ฉบับนี้ คือ ส่งเสริมให้กัญชา กัญชง เป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

มีเป้าหมาย คือ

  1. เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ พัฒนาภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย
  2. ให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง
  3. ให้เกิดเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชนจากการปลูก การผลิต และการขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง รวมทั้งสารสกัด
  4. ส่งเสริมให้มีการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมทั้งพืช และผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง
  5. คุ้มครองประชาชน ซึ่งอาจจะได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง และป้องกันการใช้กัญชา กัญชง ในทางที่ผิด

"กระทรวงสาธารณสุข พร้อมเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนพืชกัญชง กัญชา เพื่อใช้ทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพตนเอง การวิจัยและการศึกษา ตลอดจนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างรายได้ของประชาชน" นายอนุทิน กล่าวในที่สุด

ประกาศข้างต้นออกตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 โดยจะส่งผลให้รายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ไม่มีกัญชา กัญชง จะเหลือเพียง พืชฝิ่น เห็ดขี้ควาย หรือพืชเห็ดขี้ควาย และ “สารสกัด” จากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ที่มีปริมาณสาร ทีเอชซี (THC) เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เท่ากับส่วนต่างๆ ของกัญชา และกัญชง ที่ไม่ใช่ “สารสกัด” จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกกฎหมาย