“ปลดล็อกกัญชา” พ้นกฎหมายยาเสพติด สิ่งไหนทำได้ - ไม่ได้ 

“ปลดล็อกกัญชา” พ้นกฎหมายยาเสพติด สิ่งไหนทำได้ - ไม่ได้ 

แม้ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(คกก.ป.ป.ส.)จะเห็นชอบ(ร่าง)ประกาศยาเสพติด ให้ “กัญชา”ไม่ใช่ยาเสพติด แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถใช้ “กัญชาเสรี” ยังมีสิ่งที่ทำได้ และห้ามทำ

      ความคืบหน้ากฎหมาย “ปลดล็อกกัญชา
      20 ม.ค.2565 คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข  กำหนดระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. ....
       25 ม.ค. 2565 คณะกรรมการป.ป.ส.เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข  กำหนดระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. ....
       26 ม.ค.2565 พรรคภูมิใจไทย(ภท.) ยื่นร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง (ฉบับของพรรค)ต่อสภา
       การปลดล็อกกัญชา ดังกล่าว ส่งผลให้ “กัญชา” ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5  ทั้งส่วนของช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น รากและเมล็ด เว้นแต่สารสกัดที่มีสารTHC เกิน 0.2 %เท่านั้นที่เป็นยาเสพติด
      ในส่วนของ(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข หลังจากที่คณะกรรมการป.ป.ส.เห็นชอบแล้วนั้น อยู่ระหว่างเลขาธิการ ป.ป.ส. จะนำผลการประชุมทั้งหมดไปประมวลผล เพื่อยืนยันผลไปยัง รมว.สาธารณสุข เพื่อลงนามในประกาศ และหากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลบังคับใช้ในอีก  120 วัน 

สิ่งที่ทำได้-ไม่ได้หลัง “ปลดล็อกกัญชา”
     สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อ “ปลดล็อกกัญชา”พ้นยาเสพติดแล้ว แต่ใม่ใช่การใช้ได้แบบ “กัญชาเสรี” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการควบคุม กำกับการใช้ จึงมีการยก(ร่าง)พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ... ขึ้นมาเพื่อควบคุม โดยหลักๆ จะมีการควบคุมในเรื่องการปลูก สกัด ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงการใช้ในเชิงนันทนาการที่รวมถึงการเสพด้วย        
     ปลูกกัญชา แยกเป็น 1.ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน  ต้องมีการจดแจ้ง และ 2.การปลูกในเชิงต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)
      สกัด-แปรรูป ต้องได้รับอนุญาตจาก อย.
      การขาย ส่งออก นำเข้า ต้องขออนุญาตจาก อย. และห้ามขายกัญชา กัญชง เพื่อการนำไปบริโภคคือ  กิน  เคี้ยว ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ หรือในรูปลักษณะใดๆ แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี  สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลตามที่รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนด
   การโฆษณา ห้ามไม่ให้มีการโฆษณา เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต คือ อย.

       ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ “การควบคุมการใช้เชิงนันทนาการ” ที่แม้ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะกล่าวว่า “การใช้เชิงนันทนาการไม่ใช่เจตนารมณ์หลัก และหากใช้แบบผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการ
     แต่ใน(ร่าง) พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับพรรคภท.นั้น มีเพียง 1 มาตรา ในหมวด 10 ที่กล่าวถึงการคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง และการป้องกันการใช้ในทางที่ผิด โดยมาตรา 33 ระบุว่า ห้ามขายกัญชา กัญชง เพื่อการนำไปบริโภค แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี  สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลตามที่รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนด
       ทั้งนี้ นิยามของ “บริโภค” หมายถึง กิน  เคี้ยว ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ หรือในรูปลักษณะใดๆ นั่นอาจหมายรวมถึง การใช้เพื่อนันทนาการหรือการเสพด้วย 

     แต่ช่องโหว่ขนาดใหญ่ ก็คือ “จะควบคุมการเสพในครัวเรือนที่ในการปลูกให้แค่จดแจ้งไม่ต้องขออนุญาต อย่างไร”
    

   ห่วงอันตรายหลัง” ปลดล็อกกัญชา”
     ศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  ผลการศึกษาตัวอย่างอาหารคาว หวาน อาหารแห้ง และเครื่องดื่ม ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดจำนวน 29 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนธันวาคม 2564 ถึงมกราคม 2565 นำมาตรวจหาปริมาณสาร THC เพื่อดูว่าในอาหารมีสาร THC เกินกว่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 427 และ 429 พ.ศ. 2564 หรือไม่ พบว่า อาหารคาว และอาหารหวานผ่านเกณฑ์คือ มี THC ต่ำกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก แต่หลายผลิตภัณฑ์ไม่ผ่านเกณฑ์คือ มี THC สูงเกินกำหนดซึ่งถือเป็นยาเสพติด ได้แก่ เครื่องดื่มผสมสมุนไพรและผงชากัญชามี THC ร้อยละ 0.214-0.231 โดยน้ำหนัก คุกกี้มี THC ร้อยละ 0.498 โดยน้ำหนัก

        ด้าน ผศ.ดร.อุษณีย์ พึ่งปาน นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยยาเสพติดฯ ผู้ร่วมการวิจัยนี้ กล่าวเสริมว่า ที่น่าเป็นห่วงมากคือ อาหารแห้ง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปผสมกัญชามี THC สูงถึงร้อยละ 32 ถึง 51โดยน้ำหนัก ซึ่งเกินเกณฑ์ไปมาก สันนิษฐานว่าใบกัญชาที่นำมาใส่อาจใกล้ช่อดอก หรืออาจมีการแอบผสมช่อดอกในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนี้  นี่คือ สิ่งที่น่าเป็นห่วง หากมีการปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดคนจะนำไปใช้แบบผิดๆ ได้ เพราะคิดว่าไม่มีใครมาตรวจ ผู้ขายอาจแอบนำกัญชามาใส่ในอาหารในระดับที่มากเพื่อให้ขายได้ดีๆ

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์