Long COVID กระทบสุขภาพร่างกาย 6 ระบบ หายป่วยโควิด-19 แต่ต้องสังเกตอาการต่อ

Long COVID กระทบสุขภาพร่างกาย 6 ระบบ หายป่วยโควิด-19 แต่ต้องสังเกตอาการต่อ

"กรมการแพทย์" เผยผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพจากโรค "โควิด-19" หรือ ภาวะ "Long COVID" ชี้ กระทบสุขภาพร่างกาย 6 ระบบ หายป่วยโควิด-19 แต่ต้องสังเกตอาการต่อ

"กรมการแพทย์" เผยผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพจากโรค "โควิด-19" หรือ ภาวะ "Long COVID" เป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติคเชื้อตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อและมีอาการอยู่นานอย่างน้อย 2 เดือนเกิดขึ้นได้หลายระบบ

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- เด็กติด "โอมิครอน" อาจเสี่ยงเป็น 1 โรคเรื้อรังไปตลอดชีวิต

- ตำรับยาไทยดูแล Long COVID หลังพบ 30%ติดโควิดมีอาการระยะยาว

- “Long COVID” กับการ "มีบุตรยาก" ในศาสตร์แพทย์แผนจีน

 

"Long COVID" ซึ่งจากการสำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็น "โควิด-19" ของกรมการแพทย์ อาการที่มักพบบ่อยมี ดังนี้

 

  • ระบบทางเดินหายใจ 44.38% หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง
  • ระบบทางจิตใจ 32.1% นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า
  • ระบบประสาท 27.33% อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หลงลืม กล้ามเนื้อลืม 
  • ระบบทั่วไป 23.41% อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ 
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด 22.86% เจ็บหน้าอก ใจสั่น 
  • ระบบผิวหนัง 22.8% ผมร่วง ผื่นแพ้ 

 

ทั้งนี้ อาการผิดปกติดังกล่าว ส่วนใหญ่หายได้เอง หากผู้ป่วยมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 2 เดือน ควรพบแพทย์ที่ รพ.ใกล้บ้าน หรือ รพ.ที่เคยรักษาโควิด-19

 

Long COVID กระทบสุขภาพร่างกาย 6 ระบบ หายป่วยโควิด-19 แต่ต้องสังเกตอาการต่อ

 

ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดอาการ "Long COVID"

 

1. อายุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ

2. เพศ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

3. ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหอบหืด และผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

 

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา เคยพูดถึงอาการ Long COVID พร้อมให้คำแนะนำว่า หากผู้ติดเชื้อโควิด-19 หายป่วย แล้วยังมีอาการที่กล่าวมา แนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากบางรายอาจเป็นผลจากตัวยาที่ใช้ในการรักษา หรือบางรายอาจจะมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น และยังมีความเป็นไปได้ในผู้หายป่วยแล้ว บางรายอาจจะติดเชื้อ "โควิด-19" ซ้ำได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อที่ต่างไปจากสายพันธุ์เดิม แต่อาจไม่แสดงอาการชัดเจน

 

 

การรักษา Long COVID

 

พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก อธิบายว่า การรักษา Long COVID รักษาตามอาการเป็นหลัก ผู้ป่วยสามารถรอให้หายเองได้ หากรู้สึกถึงอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง เช่น มีอาการไอ เหนื่อย หอบมากขึ้น หรือมีอาการทางระบบประสาทที่มีมากกว่าปกติ เช่น รู้สึกสับสน

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาต่อไป การออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การกลับมาทำงานของร่างกายได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องอาศัยกำลังใจทั้งจากตนเอง และคนรอบข้าง อย่างเช่น การพูดคุย สื่อสาร ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อบรรเทาความเครียด ก็สามารถช่วยให้สุขภาพจิตที่ย่ำแย่อันเนื่องมาจากภาวะ Long COVID ดีขึ้นได้

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์