เด็กติด "โอมิครอน" อาจเสี่ยงเป็น 1 โรคเรื้อรังไปตลอดชีวิต

เด็กติด "โอมิครอน" อาจเสี่ยงเป็น 1 โรคเรื้อรังไปตลอดชีวิต

"หมอธีระ" เผยติดเชื้อ "โอมิครอน" แม้จะรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่หลักฐานบ่งชี้ว่าคนที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน จะมีภาวะอาการคงค้าง หรือ Long COVID ได้สูงถึง 20-40% นอกจากนี้ในเด็กยังเสี่ยงเป็น 1 โรคเรื้อรังไปตลอดชีวิต

"หมอธีระ" โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" เผยหากติดเชื้อจะส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย มีปัญหาระยะยาวได้ ทั้งเรื่องระบบสมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน แถมเด็กที่ติด "โอมิครอน" อาจเสี่ยงเป็น 1 โรคเรื้อรังไปตลอดชีวิตได้ด้วย 

 

 

วันที่ 20 มกราคม 2565 "หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณี "โควิด-19" เผยหากติดเชื้อจะส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย มีปัญหาระยะยาวได้ ทั้งเรื่องระบบสมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ฯลฯ 

 

หมอธีระ ระบุว่า วันที่ 20 มกราคม 2565 ทะลุ 338 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 3,209,137 คน ตายเพิ่ม 8,149 คน รวมแล้วติดไปรวม 338,878,325 คน เสียชีวิตรวม 5,582,064 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส อินเดีย บราซิล และอิตาลี 

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 83.92 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 84.36 

 

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 46.4 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 41.35 

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 11 ใน 20 อันดับแรกของโลก 

 

ภาพรวมทวีปยุโรปและอเมริกากำลังขาลง แต่ทวีปเอเชีย และอเมริกาใต้ตอนนี้ดูเป็นขาขึ้นมากหลายประเทศ 

 

 

แถบเอเชียอย่างอินเดีย ติดเพิ่มกว่าสามแสนคน ในขณะที่ตุรกี อิสราเอล ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ก็เพิ่มขึ้นหลายหมื่นในแต่ละวัน

 

ที่น่าสังเกตคือ แอฟริกาใต้ที่โดนระลอก Omicron (โอมิครอน) ไปตั้งแต่ปลายปีก่อน ติดเชื้อจำนวนมาก โดยจำนวนเสียชีวิตที่รายงานในช่วงนั้นน้อยมาก แต่ปัจจุบันที่จำนวนการติดเชื้อลดเหลือหลักพัน เป็นขาลงชัดเจน โดยกลับมีรายงานจำนวนเสียชีวิตที่เป็นขาขึ้นชัดเจน สะท้อนความเป็นไปได้ของระยะเวลาที่เหลื่อมกันมากของระบบรายงาน 

 

ทั้งนี้ "หมอธีระ" ยังระบุอีกว่า ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า พบคนน้อยลง สั้นลง เท่าที่จำเป็น และอยู่ห่างคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เลี่ยงการกินดื่มร่วมกับผู้อื่น ไม่แชร์ของกินของใช้ 

 

การติดเชื้อ Omicron แม้จะรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่หลักฐานวิชาการจนถึงปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าคนที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน จะมีภาวะอาการคงค้าง หรือ Long COVID ได้สูงถึง 20-40% 

 

และภาวะ Long COVID นั้น จะส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย มีปัญหาระยะยาวได้ ทั้งเรื่องระบบสมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ฯลฯ 

 

นอกจากนี้ในเด็ก ยังส่งผลให้เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งจะเรื้อรังไปตลอดชีวิตได้ด้วย ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด 

 

เด็กติด "โอมิครอน" อาจเสี่ยงเป็น 1 โรคเรื้อรังไปตลอดชีวิต

 

Long COVID อาการเป็นอย่างไร? 

 

  • Long COVID เป็นภาวะหรืออาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากได้รับเชื้อนาน 4 สัปดาห์ไปจนถึง 12 สัปดาห์ขึ้นไป อาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกัน
  • อาการที่พบบ่อยที่สุด มีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงทำให้ร่างกายทรุดโทรม และมีผลระยะยาวตั้งแต่หลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือนหลังหายจากโควิด-19 โดยอาการที่พบมากที่สุด คือ เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ สมาธิสั้น ผมร่วง หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม การรับรสชาติและการรับกลิ่นเปลี่ยนไป เจ็บหน้าอก หายใจถี่ ปวดตามข้อ ไอ ท้องร่วง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีภาวะสมองล้า นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง  (Post-Traumatic Stress Disorder)
  • สามารถพบอาการของ Long COVID ในผู้ป่วยนอก 35 % และผู้ป่วยใน  87% โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจยาวนานถึง 3 เดือนขึ้นไป

 

ภาวะแทรกซ้อนของโควิด-19

 

  • เกิดขึ้นได้ในระยะ 1-2 เดือน มีตั้งแต่ อาการหอบเหนื่อย เพลีย พบพังผืดที่ปอด พบความผิดปกติที่ปอด เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน พบความผิดปกติเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อน เกิดการอักเสบภายในอวัยวะสำคัญ เช่น ตับอักเสบเฉียบพลัน การทำงานของไตบกพร่อง ไตวายเฉียบพลัน ปัญหาทางระบบประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการนอนในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ภาวะซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาในกลุ่มสเตียรอยด์ อาจจะมีอาการแสบกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ระดับน้ำตาลไม่คงที่ และเบาหวาน

 

หลังการติดเชื้อโควิดร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานตามธรรมชาติและมักจะไม่ติดเชื้อโควิดซ้ำในช่วง 1-3 เดือนแรกหลังหายป่วย แต่ภูมิต้านทานจะค่อยๆ ลดลงและไม่คงอยู่ตลอด ทำให้มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีกในอนาคต จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ

 

ผู้ที่หายจากโควิด-19 จึงต้องสังเกตตัวเองอย่างละเอียด ประเมินร่างกายตนเองอยู่เสมอ และฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายอย่างถูกต้อง หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นที่รบกวนการใช้ชีวิต แนะนำให้พบและปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุอย่างละเอียด และอาจจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่าปล่อยทิ้งไว้จนรุนแรงและเรื้อรัง 

 

ข้อมูลจาก Thira Woratanarat / sikarin.com